K-Pop vs. J-Pop 2012 สถานการณ์คุกรุ่น: เมื่อเสียง ไซ (Psy) ดังไม่ถึงญี่ปุ่น
ไม่ว่าจะชอบหรือเกลียดข้อเท็จจริงเรื่องความสำเร็จของสินค้าออกทางวัฒนธรรมจาก "เกาหลี" คือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และดูเหมือนว่าความสำเร็จที่ว่าได้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2012 นี้ ... ทั้งหนังที่ได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ ส่วนเพลงก็เป็นครั้งแรกที่ K-Pop เจาะตลาดสหรัฐฯ สำเร็จ แต่สำหรับตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น 2012 กลับเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย
ปี 2012 เป็นปีที่เกาหลีใต้ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ในเวทีโลกได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง ส่วนแบ่งในตลาดอุปกรณ์ไอที, ชัยชนะ ณ สนามกีฬาโอลิมปก รวมถึงรางวัลทางภาพยนตร์ในเทศกาลหนังที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเพลงฮิตที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "เพลงแห่งปี" ของปี 2012 คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเกาหลีใต้ในสนามต่างๆ … แต่สถานการณ์ในวงการบันเทิงญี่ปุ่นของ K-Pop กลับไม่สวยหรูอย่างที่ผ่านมา
ญี่ปุ่นเก่งในบ้าน - เกาหลีเน้นเยือน
ความสำเร็จของเกาหลีใต้เกิดขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งสภาพเศรษกิจโดยรวมที่ไม่ได้แข่งแกร่งเหมือนเมื่อช่วงหลายสิบปีที่แล้วอีกต่อไป ขณะที่สินค้าออกทางวัฒนธรรม หรือเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกมก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก หรือกระทั่งแวดวงมังงะ (หนังสือการ์ตูน) และอนิเมะที่เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของชาติมานาน ก็แสดงออกถึงความถดถอย
ปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่นดูเหมือนจะอยู่ตรงที่ความใหญ่โต และกำลังซื้ออันมหาศาลของตลาดภายในประเทศนั่นเอง ที่ทำให้ผู้ผลิตแทบไม่เคยใส่ใจในการตอบสนองความต้องการของตลาดตะวันตก ทำให้สินค้าส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นออกแบบมาเพื่อคนญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เพลง, ภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์ ที่มีวิธีการนำเสนออันเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวอย่างชัดเจน และแทบไม่อ้างอิงกับกระแสความนิยมของนานาชาติเลย
ด้วยวิธีคิดลักษณะนี้สินค้าทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นจึงเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ และเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่สามารถหาได้จากที่ใด แน่นอนว่าสามารถสร้างแฟนคลับเดนตายได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประสบความสำเร็จในวงกว้าง อันที่จริงต้องบอกว่าญี่ปุ่นแทบจะไม่ดิ้นรนในการขายงานให้กับต่างประเทศด้วยซ้ำ
แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเกาหลีใต้ ที่แสดงออกอย่างหนักในการพยายามบุกตลาดต่างประเทศ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล ทั้งการสร้างงานที่มีความเป็นสากล และให้ความสำคัญกับการจัดจำหน่าย และขายลิขสิทธิ์ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นพิเศษ
สหรัฐฯ ตัวแปรสำคัญ
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ดูจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วก็เห็นจะเป็นอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา
ความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ นั้นก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับความสัมพันธ์ของเกาหลีกับญี่ปุ่น คือเป็นส่วนผสมระคนกันระหว่าง "รักและเกลียด" อย่างไรก็ตามเมื่อหักลบแล้ว ความรู้สึกต่อ "ลุงแซม" ของเกาหลีใต้ดูจะเป็นไปในทิศทางบวกมากกว่า ซึ่งก็น่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากความช่วยเหลือในด้านกำลังพลระหว่างช่วงสงครามเกาหลีเมื่อหลายสิบปีก่อน
จากผลสำรวจในปีนี้สหรัฐอเมริกาคือประเทศที่ชาวเกาหลีใต้ "ชื่นชอบ" มากที่สุด คิดเป็น 21.5% (และมีคนเกลียดเพียงแค่ 4.8% เท่านั้น) เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 16.5% ด้วยซ้ำ แม้จะมีการประท้วงต่อต้านสหรัฐฯ ในเกาหลีอยู่เป็นระยะ แต่โดยภาพรวมวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ก็ยังคงอ้างอิงความเป็นอเมริกันมากอยู่เช่นเดียว
คนในรุ่นนึงเติบโตมาด้วยการฟังเพลงป๊อปของอเมริกัน จากเครือข่ายวิทยุของกองทัพสหรัฐฯ ส่วนคนรุ่นใหม่จำนวนมากก็เติบโตมากับเพลง อาร์แอนด์บี และฮิปฮอป ของสหรัฐฯ K-Pop จึงเป็นแนวเพลงที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากเพลงของอเมริกัน มากกว่าจะเป็น J-Pop ของประเทศเพื่อนบ้าน
แม้แต่ Gangnam Style อันลือลั่นส่วนหนึ่งก็ได้รับความนิยมจากการได้รับความสนใจของสื่อสหรัฐฯ นั่นเอง
เกลียดตัวกินไข่?
ขณะที่สหรัฐฯ อเมริกาคือประเทศที่ชาวเกาหลีใต้ชื่นชอบที่สุด เพื่อนบ้างอย่าง ญี่ปุ่น กลับกลายเป็นที่เกลียดชังของประชาชนชาวโสมขาว
ในผลสำรวจของ Gallup ในปี 2012 ชี้ว่าประชาชนชาวเกาหลีใต้ถึง 44% เกลียดญี่ปุ่น (เพิ่มขึ้นจาก 33.4% เมื่อปี 2002) สูงความเกลียดชังในประเทศจีน (19.1%) มากกว่า 1 เท่าตัว และมากกว่าเกาหลีเหนือ (11.7%) ถึง 4 เท่าตัวเลยทีเดียว สาเหตุก็สืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นเคยยึด และปกครองเกาหลีอยู่ในช่วงหลายสิบปี และดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีของทางฝั่งเกาหลีซักเท่าไหร่
แม้จะเต็มไปด้วยความรู้สึกเกลียดชังกัน แต่ญี่ปุ่นกลับยังเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ต่อไป แม้จะมีข่าวการเดินทางไปเปิดคอนเสิร์ตของเหล่าศิลปิน K-Pop ทั้งที่ยุโรป และอเมริกาใต้ แต่ข้อมูลก็ยังชี้ว่ายอดขายผลงานของศิลปินเกาหลีใต้ถึง 99% ยังคงเกิดขึ้นในเอเชีย และ 80% ของจำนวนนั้นเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น
ตลาดเพลงที่ยังคงแข็งแกร่ง, กำลังซื้อมหาศาล และยอดขายแผ่นซีดีไม่ได้ตกต่ำจนน่าใจหาย ทำให้ตลาดเพลงญี่ปุ่นยังคงหอมหวานสำหรับศิลปินต่างประเทศ รวมถึงเกาหลีใต้ด้วย
ถึงตอนนี้มีศิลปินจากเกาหลีหลายรายที่ให้ความสำคัญกับการทำงานที่ญี่ปุ่นเท่ากับการทำงานในประเทศ หรือบางกรณีก็มากกว่าเสียอีก
แม้จะมีความไม่พอใจออกมาในหมู่ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ที่มองว่าสุดท้ายแล้ว ศิลปินจากเกาหลีใต้มักจะได้รับเพียง "เศษเงิน" จากบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น อย่างในรายของ KARA ที่ทางหนังสือพิมพ์ Korean Economic เปิดเผยว่าจากยอดขายผลงานทั้งหมดของพวกเธอ บริษัทจัดจำหน่ายในญี่ปุ่นจะได้ส่วนแบ่งจำนวนมากถึง 84% ที่เหลือทางฝั่งเกาหลีใต้ และโปรโมเตอร์ของทางญี่ปุ่นจะได้แบ่งกันคนละ 8% แต่สุดท้ายแล้วก็ยังเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่มากมายอยู่ดี
2012 ปีแห่งการกระทบกระทั่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้ กับญี่ปุ่นที่ดำเนินไปแบบทั้งรักและเกลียดในช่วงหลายปี ดูจะกระทบกระทั่งกันหนักซักหน่อยในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กับประเด็นการแย่งชิงเกาะ ที่เป็นปัญหาคาราคาซังมานานหลายปี และเกิดคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งในปีนี้ แต่ในมุมมองของสื่อเกาหลีใต้ก็เชื่อว่า “ความสำเร็จ” ของพวกเขานั่นเอง คือสิ่งที่ญี่ปุ่นไม่พอใจ
ตลอดปี 2012 เกิดปัญหาขึ้นกับสินค้าความบันเทิงของเกาหลีใต้ในตลาดญี่ปุ่นเป็นระยะ ทั้งการยกเลิกกำหนดออกอากาศของซีรีส์หลายเรื่อง ขณะเดียวกันศิลปิน K-Pop ก็ไม่ได้รับเลือกให้ร่วมแสดงในรายการประจำปีของ NHK เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลอย่างเป็นทางการ แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาทางการเมืองอย่างแน่นอน
แต่ประเด็นที่ทั้งสื่อเกาหลี และญี่ปุ่นให้ความสนใจกันมากที่สุดก็เห็นจะเป็นเพลง Gangnam Style ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ไม่สามารถเจาะตลาดเพลงญี่ปุ่นได้เลย
โดยสื่อในญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า Gangnam Style ดูจะเป็นเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีของทางฝั่งสหรัฐฯ จนไม่ค่อยจะถูกรสนิยมของทางญี่ปุ่นนัก แตกต่างจากเพลงของศิลปิน K-Pop หลายๆรายที่บันทึกเสียงใหม่เป็นภาษาญี่ปุ่น และยังทำดนตรีในสไตล์ J-Pop จนได้รับความนิยมในตลอดหลายปีมานี่
อย่างไรก็ตามทางฝั่งของเกาหลีโดย สถาบันวิจัยคลื่นบันเทิงเกาหลี (KWRI) กลับให้มุมมองความล้มเหลวของ Gangnam Style ในแดนปลาดิบแบบค่อนข้างจะหนักหน่วง และถือว่าเข้าข่ายเป็นการชวนทะเลาะ ด้วยสมมุติฐานที่ว่าเพลงโคตรฮิตของ ไซ เพลงนี้ไม่สามารถเจาะตลาดญี่ปุ่นได้ก็เพราะเรื่องการเมืองนั่นเอง
Manager Online