ไซ (Psy) เอฟเฟค ต่อยอด กังนัมสไตล์ (Gangnam Style) : ก้าวต่อไป K-Pop โอกาสเปิดแต่ยังไม่ง่าย

เอเอฟพี - ความสำเร็จอันท่วมท้นของเพลง Gangnam Style กำลังจะกลายเป็นโอกาสอันดีของวงการเพลงเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันว่า K-Pop เมื่อประตูตลาดโลกได้เปิดออกอย่างเป็นทางการ
       
       แน่นอนว่าความสำเร็จอันมหาศาลชนิดสั่นสะเทือนวงการดนตรีโลกของ ไซ (Psy) และเพลง Gangnam Style ก็ใช่ว่าจะทำให้ทุกอย่างง่ายดายไปหมด
       
       แต่ที่แน่ๆ หนุ่มเกาหลีร่างท้วมได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆขึ้นมากมาย โดยคนในวงการดนตรีเกาหลี และผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจสายนี้ได้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นในงานรวมตัวของบุคลากรธุรกิจสายดนตรี MIDEM ที่คานส์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อให้ความเห็นถึงอนาคตของวงการเพลงเกาหลีในช่วงหลังจากนี้ ที่โอกาสต่อยอดความสำเร็จของ ไซ กำลังอยู่ตรงหน้า
       
       เคลตัน จิน ซีอีโอของ Billboard Korea ผู้เก็บข้อมูลธุรกิจดนตรีที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดในเกาหลีใต้ ได้ให้ความเห็นกับ AFP ถึงเป้าหมายการบุกตลาดเพลงตะวันตกของ K-Pop ว่า "ที่ผ่านมาตลาดตะวันตกเป็นเหมือนฝันหวาน หรือไม่ก็เป้าหมายสุดท้ายของบรรดาค่ายเพลงในเกาหลีใต้อยู่แล้ว"
       
       "อย่างไรก็ตามค่ายเพลงต่างๆ ก็ยังมองเห็นถึงความเป็นจริง และสุดท้ายตลาดเพลงเอเชียก็ยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญที่สุดอยู่ดี" จิน กล่าวย้ำ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าถึงตอนนี้ตลาดเพลงในเอเชียก็ยังถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของวงการเพลงเกาหลี เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นก็ถือว่ามีมูลค่าเกิน 50% ของยอดการส่งออกสินค้าทางดนตรีทั้งหมดของประเทศแล้ว

      กระทั่งเมื่อไม่นานมานี่เองที่ธุรกิจเพลงเกาหลีใต้ เริ่มมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ในตลาดเพลงสหรัฐฯ และยุโรปอย่างเป็นจริงเป็นจัง มีการเปิดคอนเสิร์ตนอกเอเชียของศิลปินเกาหลีขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐฯ และยุโรปอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าระยะหลังชื่อเสียงความนิยมของศิลปินเกาหลีในตลาดเพลงตะวันตกจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ
       
       อย่างไรก็ตามที่แล้วมา ด้วยสินค้าที่วนเวียนอยู่กับศิลปินหนุ่มหล่อ และวงหญิงล้วน ทำให้เพลงเกาหลีสามารถครองใจได้เฉพาะคนฟังเพลงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
       
       มินคิม จาก Kocca องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจดนตรีเกาหลีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "ช่วงก่อนหน้านี้รายได้จากตลาดเพลงตะวันตกของวงการเพลงเกาหลีน่าจะมีมูลค่าเพียง 0.5% ของทั้งหมดเท่านั้น" แต่ทุกอย่างก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปในแง่ดี เมื่อ Gangnam Style ประสบความสำเร็จแบบสร้างความตกตะลึงให้กับวงการดนตรีโลก ด้วยยอดผู้ชมคลิปมิวสิควิดีโอใน Youtube เกิน 1,000 ล้านครั้ง "ก่อนหน้าการมาถึงของ ไซ คนจะรู้จักเกาหลีผ่านสินค้า IT แต่ตอนนี้ Gangnam Style ทำให้คนคุ้นเคยกับดนตรีของเกาหลีมากขึ้น"
       
       ไม่ใช่เพียงความสำเร็จ และร่ำรวยส่วนตัว ไซ ยังทำให้คนวงในธุรกิจดนตรีตะวันตก และแฟนๆ เริ่มเห็น K-Pop อยู่ในสายตามากขึ้น "ตอนนี้คนฟังเริ่มให้โอกาสมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ค่อยสนใจ และมองเป็นเพลงของคนต่างชาติ จากอีกประเทศเท่านั้น" คิม กล่าว

นอกจากการสร้างผลกระทบในโลกดนตรีตะวันตกแล้ว ไซ ก็ยังทำให้ศิลปินในประเทศเกาหลี และบริษัทต่างๆ เริ่มเชื่อมั่นกับโอกาสบุกตลาดเพลงตะวันตกมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่คิดว่าการทัวร์คอนเสิร์ตในอีกฟากโลกหนึ่ง คงจะไม่สามารถทำรายได้อะไรมากมายนัก
       
       ตอนนี้คนในอุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีเชื่อว่าตลาดเพลงตะวันตกคือเรื่องเป็นไปได้ หากพวกเขาเลือกศิลปินที่เหมาะสม และใช้เงินกับการลงทุนที่ถูกต้อง ก็น่าจะสามารถผลักดันศิลปินในสังกัดให้ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน
       
       ไซ ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการจัดการธุรกิจดนตรีในเกาหลีใต้เองด้วย "ก่อนหน้านี้บริษัทในเกาหลีจะค่อนข้างควบคุมศิลปินแบบเข้มงวด แต่เหตุผลที่ ไซ ประสบความสำเร็จ แต่คนอื่นล้มเหลวส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับเรื่องของสัญญาที่เปิดกว้างด้วย ทันทีที่เพลง Gangnam Style เริ่มเป็นกระแสใน Youtube เขาก็สามารถบินไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเซ็นสัญญากับ สกูตเตอร์ บรุน (ผู้จัดการของ จัสติน บีเบอร์) ได้ทันที" เคลตัน จิน กล่าว
       
       ถึงตอนนี้ศิลปินเกาหลีหลายๆคนก็เริ่มเดินทางตามเส้นทางของ ไซ แล้ว
       
       วงหญิงล้วน Girls Generation ที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามในการออกผลงานเพลงภาษาญี่ปุ่น ได้เซ็นสัญญากับ Interscope บริษัทเพลงในสหรัฐฯ ที่เป็นต้นสังกัดของ เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) และ Black Eyed Peas ซึ่งวงหญิงล้วนที่มีสมาชิก 9 คน ก็มีกำหนดออกอัลบั้มเพลงภาษาอังกฤษในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้เช่นเดียวกัน

แต่ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมดนตรีก็เชื่อว่า "ปรากฏการณ์" ของ ไซ ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินจากประเทศอื่นๆในเอเซีย หรือแม้กระทั่งเกาหลีเองจะเลียนแบบกันได้ง่ายๆ เพราะสุดท้ายเรื่องของภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างก็ยังคงเป็นปัญหา
       
       อย่างมาเลเซียที่ นอร์แมน อับดุล ฮาลิม ประธานของสมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงของที่นั่น บอกว่าวงการเพลงของประเทศไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างได้พอที่จะส่งผลงานออกไปขายนอกประเทศเสียที เพราะต้องเจอกำแพงภาษาที่มาเลเซียเองก็มีภาษาหลักที่ใช้อยู่ถึง 4 ภาษาแล้ว
       
       แม้แต่เกาหลีเองที่เคยทำเงินได้อย่างมากมายกับตลาดเพลงญี่ปุ่น ก็เริ่มพบกับความไม่แน่นอน เมื่อผู้เชี่ยวชาญวงการเพลงแดนปลาดิบมองว่า แฟนเพลงของที่นั่นเริ่มจะเบื่อหน่ายกับเพลงแบบเกาหลี และต้องการอะไรที่สดใหม่กว่า
       
       และสุดท้ายแล้วความสำเร็จของ ไซ ก็ไม่ได้มีแต่ด้านบวกสำหรับศิลปินเกาหลีเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในสายของดนตรีแนวฮิปฮอปอย่างที่ ทาชา นักร้องหญิงของวง Drunken Tiger พูดกับ AFP ว่า "ในอีกด้าน มันก็ทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปอีก เพราะตอนนี้ทุกคนคิดว่าเพลงเกาหลีต้องเหมือนไซไปทั้งหมด"

 

Manager Online