จางอี้โหม่ว (Zhang Yimou) มีลูกเป็นโขลงส่อละเมิดกฎเหล็ก “มีคนได้คนเดียว”

      สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของทางการจีน กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่าผู้กำกับภาพยนตร์ที่ดังที่สุดคนหนึ่งของจีนในยุคปัจจุบัน อาจจะมีลูกถึง 7 คน ที่ถือว่าละเมิดต่อกฎระเบียบว่าด้วยการวางแผนครอบครัวของประเทศ และอาจทำให้เขาโดนปรับเงินถึง 160 ล้านหยวน
       
       จากรายงานข่าวทางอินเทอร์เน็ตทำให้ประเด็นที่ว่า จางอี้โหม่ว (Zhang Yimou) มีลูกถึง 7 คน กำลังจะสร้างปัญหาใหญ่ให้ผู้กำกับชื่อดังรายนี้ ถึงขั้นที่เว็บไซต์ข่าวกระบอกเสียงของรัฐ People's Daily ระบุว่า จาง มีสิทธิ์โดนปรับเงินสูงถึง 160 ล้านหยวน หรือ 770 ล้านบาท เลยทีเดียว
       
       เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประชากรและวางแผนครอบครัวรายหนึ่ง ที่ไม่เปิดเผยตัวกล่าวว่า “ด้วยนโยบายและข้อห้ามในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการสอบสวนเรื่องของ จางอี้โหม่ว ทันทีหลังข่าวเริ่มปรากฏในสื่อ” ซึ่งถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าลูกๆ ของผู้กำกับหนังชื่อดังลืมตาดูโลก และแจ้งเกิดไว้ที่ใด ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ
       
       จางอี้โหม่ว ผู้กำกับวัย 61 ปี ที่เคยมีภาพของนักทำหนังเลือดใหม่ผู้ดื้อรั้น ที่บางครั้งสร้างงานซึ่งก่อให้เกิดปัญหาถกเถียง และไม่สามารถฉายในบ้านเกิดได้ แต่ในระยะหลังเขากลับกลายเป็นที่รักของรัฐบาลกลาง และพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยการช่วยเหลืองานสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการรับหน้าที่ดูแลพิธีเปิดในกีฬาโอลิมปิก และยังหันมาทำหนังทุนสูงเน้นความใหญ่โตของงานสร้าง ที่ไม่ได้มีเนื้อหาวิพากษ์สังคมอย่างรุนแรงเหมือนอย่างเคย
       
       แต่นอกจากชีวิตเรื่องงานแล้ว เรื่องส่วนตัวของ จางอี้โหม่ว ก็ได้รับความสนใจอยู่เสมอ ทั้งข่าวลือเรื่องความสัมพันธ์กับนักแสดงสาวหลายคนที่เคยร่วมงานกับเขาโดยเฉพาะ กงลี (Gong Li) ที่ทำงานด้วยกันในหนังหลายเรื่อง
       
       เท่าที่เปิดเผย จางอี้โหมว มีลูกสาวอยู่คนหนึ่งที่ชื่อว่า จางโมว เป็นทายาทของเขา ที่เกิดจากอดีตภรรยานาม เสี่ยวฮัว ซึ่งได้เลิกรากันไปแล้ว แต่หลังจากนั้นก็มักจะมีข่าวออกมาว่าตอนนี้เขาได้อยู่กินกับหญิงสาวคนหนึ่ง และทั้งคู่ก็ยังมีทายาทด้วยกันหลายคน
       
       ข่าวลือเรื่องลูกของ จางอี้โหม่ว อาจทำให้เขามีปัญหาได้ เพราะเรื่องดังกล่าวขัดแย้งกับระเบียบที่ว่าด้วย “ลูกคนเดียว” ซึ่งทางการจีนเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ยุค 1970s เพื่อควบคุมปัญหาจำนวนประชากรที่มากเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาเป็นนโยบายที่โดนวิจารณ์หนักว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักเสรีภาพ
       
       นอกจากนั้นตอนนี้ยังมีนักวิชาการออกมาแสดงความเห็น ว่านโยบายแบบนี้ค่อนข้างจะล้าหลัง นอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรประเทศแล้ว ยังสร้างปัญหาทั้งกับครอบครัวชาวจีน ที่ไม่ต้องการลูกสาว เพราะกลัวไม่มีคนสืบสกุล และยังอาจจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของจีนด้วย
       
       ในทางตรงข้าม แม้จะมีนโยบายที่ควบคุมให้แต่ละบ้านมีทายาทได้เพียงคนเดียว แต่ยังมีผู้พยายามฝ่าฝืนกันอยู่เป็นจำนวนมาก บางครั้งก็ใช้วิธีให้บุคคลอื่นมาเซ็นรับรองเป็นพ่อแม่ของลูกแทนตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเด็กชาวจีนที่เกิดหลังช่วงปี 1970s จะมีพี่น้อง แม้ประเทศจะอนุญาตให้แต่ละบ้านมีลูกได้เพียงคนเดียวกันตาม
       
       เมื่อเดือน ธ.ค.ปีก่อนยังเกิดเหตุการณ์ที่สร้างข้อถกเถียงขึ้นมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ในเขตกวางตุ้งตอนใต้ ได้เข้าทำการตรวจสอบครอบครัวที่ผู้เป็นแม่ให้กำเนิดทายาทเป็นเด็กแฝด 4 จนทำให้ประเด็นนโยบายลูกคนเดียวถูกหยิบขึ้นมาพูดกันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ทั้งมุมที่ว่าครอบครัวผู้มั่งมีมักจะสามารถหลีกเลี่ยงกฎระเบียบข้อนี้ได้อย่างง่ายดาย

 

 

Manager Online