ฟองสบู่ใกล้แตก? นโยบายเยนอ่อนซ้ำเติมกระแส K-Pop ในญี่ปุ่น

สื่อแดนปลาดิบเชื่อกระแสบันเทิงเกาหลีใต้หรือ K-Pop ในแดนอาทิตย์อุทัย เริ่มจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ แล้ว นอกจากนั้นด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง ก็ทำให้บริษัทจากเกาหลีใต้มีผลกำไรทางธุรกิจในญี่ปุ่นที่ลดน้อยลงไปด้วย
       
       เมื่อไม่นานมานี้บันเทิงเกาหลีใต้เคยรุกญี่ปุ่นอย่างหนัก ชนิดที่ว่าสามารถพบเห็นดารา, ตัวอักษร และความบันเทิงจากประเทศเพื่อนบ้านแทบทุกหนทุกแห่งในญี่ปุ่น ตั้งแต่โฆษณาของศิลปินเพลงป๊อป, เครื่องสำอาง และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เช่นเดียวกับที่มีคนญี่ปุ่นเริ่มเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ
       
       แม้จะมีปัญหาการกระทบกระทั่งในเขตแดนทางทะเล และเสียงประท้วงของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในประเทศอยู่บ้าง แต่ก็ดูเหมือนญี่ปุ่นจะไม่สามารถต้านทานการเข้ามาเปิดตลาดของเกาหลีใต้ได้เลย เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ดูจะเปิดรับการเข้ามาของสินค้าเกาหลีใต้ด้วยความเต็มใจ
       
       อย่างไรก็ตาม ล่าสุด จากการเปิดเผยของสื่อญี่ปุ่น Today Japan ได้ยืนยันว่ากระแสเพลงเกาหลีใต้ในญี่ปุ่นเริ่มอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ยอดขายของบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่าง S.M. Entertainment ลดลงถึง 70% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คำถามสำคัญที่ว่า "ฟองสบู่ K-Pop ใกล้แตกแล้วหรือ?" จึงเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

Livedoor News รายงานว่าแม้ในช่วงไตรมาสแรก S.M. Entertainment จะสามารถทำรายได้ถึง 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ไม่สามารถเทียบเคียงได้เลยกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นักวิเคราะห์ยังมองว่า ธุรกิจดนตรีของเกาหลีใต้ในญี่ปุ่น เริ่มพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อระยะหลังกระแสนิยมที่เคยร้อนแรงของเหล่าศิลปินวัยรุ่นเริ่มไม่สดใสเหมือนก่อน เมื่อศิลปินเจ้าถิ่นยังสามารถครองความนิยมในหมู่แฟนๆ ได้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่า คนฟังเพลงชาวญี่ปุ่น จะเริ่มตื่นเต้นกับศิลปินจากเกาหลีใต้น้อยลง
       
       แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ปัญหาของ K-pop ในญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องกระแสความนิยมเท่านั้น เพราะเหตุผลที่รายได้ของพวกเขา โดยเฉพาะรายได้ของ S.M. Entertainment ร่วงลงอย่างน่าใจหาย ก็อาจจะเกิดขึ้นจากค่าเงินเยนที่ลดต่ำลงในช่วงนี้ด้วย
       
       "ไม่ว่าจะมองยังไงค่าเงินเยนที่อ่อนลงคือปัญหาหลักที่เกิดขึ้น" บรรณาธิการของนิตยสารญี่ปุ่นที่นำเสนอเรื่องราวของ K-Pop กล่าวอย่างตรงไปตรงมา "จากข้อมูลของนักวิเคราะห์ในเกาหลีเองยืนยันว่า ผลกำไร ของ S.M. มาจากต่างชาติถึง 70% และจากผลกำไรในต่างชาติทั้งหมด ก็มาจากญี่ปุ่นถึง 50% ซึ่งนั้นเกิดขึ้นในยุคที่ค่าเงินเยนค่อนข้างแข็ง ตอนนี้บริษัทจึงค่อนข้างลำบากพอสมควร"
       
       ซึ่งดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะมาจากนโยบายทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งเรียกกันว่า "อะเบะโนมิกส์" ที่เน้นการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนของญี่ปุ่นที่ซบเซามากว่ายี่สิบปี และถึงกับทำให้ค่าเงินเยนที่เคยอยู่ที่ 80 เยน ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2012 ตกลงมาเป็น 102 เยน ต่อ 1 เหรียญฯ ในเดือน พ.ค. 2013 ซึ่งทำให้บริษัทญี่ปุ่นสามารถแข่งขั้นได้ในตลาดต่างประเทศ
       
       ในเวลาเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องพบกับปัญหาในการส่งสินค้ามาขายที่ญี่ปุ่น และดูเหมือนว่า K-Pop เองก็คือเหยื่อของนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้านโฆษกของ S.M. Entertainment ได้แสดงความเห็นตอบโต้ถึงกระแสที่ว่าบันเทิงเกาหลีใต้กำลังเจอกับปัญหาในตลาดเพลงญี่ปุ่น ด้วยการเปิดเผยว่าอันที่จริงแล้ว ทางบริษัทคาดการณ์รายได้ในไตรมาสแรกไว้ต่ำกว่านี้ด้วยซ้ำ และยังยืนยันว่ารายได้ในไตรมาสที่ 2 ของบริษัทถือว่าดีกว่านี้มาก ด้วยผลกำไรของศิลปินดังอย่าง Girls’ Generation และบอยแบนด์ SHINee ที่ยังคงไปได้ดีในตลาดเพลงญี่ปุ่น และได้ทัวร์คอนเสิร์ตในสถานที่จัดการแสดงใหญ่ๆ ในตลอดหน้าร้อนนี้
       
       ถึงแม้ทาง S.M. Entertainment จะยืนยันว่ากระแส K-Pop ไม่ได้ตกจนน่าวิตกกังวล แต่นักวิเคราะห์ต่างมองว่าเส้นทางของเพลงเกาหลีใต้ในแดนอาทิตย์อุทัยอาจจะไม่ได้สดใสเหมือนตลอดหลายปีที่ผ่านมาอีกแล้ว และนโยบายค่าเงินเยนอ่อนจะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ผลกำไรของ K-Pop ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย
       
       ตลอดหลายปีที่ผ่านมา K-Pop ได้กลายเป็นสินค้าออกสำคัญของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ แทนที่ซีรีส์ที่กระแสเริ่มตกลงไป ส่วนภาพยนตร์แทบจะเน้นตลาดในประเทศเป็นหลักไปแล้ว
       
       จากตัวเลขที่เคยมีการประมาณการณ์กันเอาไว้นั้น รายได้นอกประเทศ 99% ของเพลงเกาหลีใต้มาจากเอเซีย และในจำนวนนั้น 80% เป็นรายได้จากการทำงานที่ญี่ปุ่น ซึ่งหากค่าเงินเยนยังจะอ่อนแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ และเหล่าศิลปินแดนกิมจิยังไม่สามารถสร้างฐานความนิยมในญี่ปุ่นให้มั่นคงกว่านี้ วันคืนที่สดใสของ K-Pop ในญี่ปุ่นก็อาจจะเป็นเพียงอดีตที่แสนหวานเท่านั้น

 

 

 

Manager Online