ไลน์ (LINE) จับมือกันตนา ปั้นธุรกิจ ส่งสติกเกอร์สู่จอทีวี

ยอดผู้ใช้ “ไลน์” (LINE) ที่ทะลุ 18 ล้านราย ติดอันดับ 2 ของโลก ไลน์ยังคงเป็นเครื่องมือสื่อสารฮอตฮิตที่สุดเวลานี้ ล่าสุด “กันตนา” คว้าลิขสิทธิ์การ์ตูนทีวีซีรีส์ออนแอร์ช่อง 5 พร้อมกับลิขสิทธิ์ไลน์เซ่นการ์ตูนทั้ง 5 ตัวของไลน์ รุกธุรกิจโปรโมชั่น ในขณะที่สองค่ายใหญ่ เอไอเอส ออกสติกเกอร์ลาย “เจมส์จิ” ตามด้วยสติกเกอร์ “น้องมะม่วง” จากค่ายหนังเมเจอร์ ที่เปิดโหลดในวันเดียวกัน

ดูเหมือนว่ากระแสข่าวรัฐบาลคุมเข้ม LINE จะทำอะไรโปรแกรมยอดฮิตตัวนี้ไม่ได้ ด้วยยอดผู้ใช้ไลน์ในไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดทะลุไปถึง 18 ล้านราย เป็นรองแค่เฟซบุ๊ก แถมไทยยังเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ไลน์เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น และมีแนวโน้มว่ายอดผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในแง่การตลาดออนไลน์ สติกเกอร์ไลน์กำลังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการนิยมใช้เพื่อสื่อสารกับลูกค้า ด้วยการออกสติกเกอร์มาให้โหลด และเปิดออฟฟิเชียล แอคเคานต์ไว้ส่งข้อความ แม้ว่าราคาของสติกเกอร์ 1 ชุด ในเวลา 3 เดือน จะขึ้นไปถึง 5 ล้านบาทก็ตาม แต่หลายแบรนด์ประเมินแล้วว่า “คุ้มค่า” กับการให้ผู้บริโภคได้รับรู้แบรนด์ และยังสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าจำนวนมากหลายล้านคนได้โดยตรง

ถ้าเทียบกับเครื่องมืออื่นๆ อย่างเฟซบุ๊ก เราอยากสื่อสารกับลูกค้า เราต้องดึงให้เขามาหาเรา แต่การใช้ไลน์ ทำให้เราส่งข้อความไปหาเขาโดยตรง และส่งถึงพร้อมกันทีเดียวหลายล้านคน ได้ทั้งการรับรู้แบรนด์และเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของเขา แล้วยังสามารถสื่อสารกิจกรรมกับผู้บริโภคได้อีก กับเงินจำนวน 5 ล้านบาทสำหรับแบรนด์ใหญ่ๆ ถือว่าคุ้ม” นักการตลาดโทรศัพท์มือถือ บอก

ส่วน อนรรฆวี ชูรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการด้านการตลาด ของซีพีเอฟ ที่ออกสติกเกอร์ไลน์มา 2 เวอร์ชั่น มองว่า จุดเด่นของไลน์ จะช่วยให้ลูกค้าเกิดภาพจำ และสร้างความคุ้นเคยกับแบรนด์ โดยจะใช้ควบคู่ไปกับเครื่องมือสื่อสารออนไลน์หลัก ที่ใช้คู่กับเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเว็บไซต์

เพราะเหตุนี้ คนไทยจึงมี “สติกเกอร์” จากแบรนด์ต่างๆ มาให้โหลดฟรีกันตลอดเวลา เมืองไทยประกันชีวิต เพิ่งแถลงข่าวฉลองยอดสมาชิกทะลุ 7.3 ล้านรายไปหมาดๆ โดยระบุว่า มีสมาชิกเป็นอันดับ 1 มาจาก “สติกเกอร์ น้องรักษ์ยิ้ม” 3 ชุด ที่ทำยอดโหลดสูงสุด 1.5 ล้านครั้งในวันเดียว

ก่อนหน้านี้ ค่ายดีแทคออกสติกเกอร์ “น้องใจดี และน้องดีใจ” เวอร์ชั่น 2 ด้วยคาแร็กเตอร์การ์ตูนที่ดูสบายๆ เป็นที่ถูกใจ เลยได้สถิติยอดโหลดหลักล้าน หลังการเปิดตัวภายในเวลาไม่ถึง 11 ชั่วโมง

ล่าสุด (เมื่อวาน 20 สิงหาคม) แบรนด์ไทย เปิดให้โหลดสติกเกอร์พร้อมกันทีเดียวถึง 2 ราย ค่ายมือถืออย่าง เอไอเอส เพิ่งออกสติกเกอร์ลายใหม่ล่าสุด คราวนี้เอไอเอสมาพร้อมกับคาแร็กเตอร์ลาย “เจมส์จิ” พรีเซนเตอร์ค่าตัว 14 ล้าน ที่ควงคู่กับน้องอุ่นใจให้กับแฟนคลับได้ “ฟินน์” กันแล้ว ในวันเดียวกัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ก็ออกสติกเกอร์ “น้องมะม่วง” ให้โหลดในช่วงเย็นวันเดียวกัน

จากจอมือถือสู่จอทีวี

ความฮอตของไลน์ในไทย นอกจากจะทำให้ไลน์ตัดสินใจเปิดสำนักงานในไทยอย่างเป็นทางการ ไลน์ยังขยายพื้นที่ธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น ด้วยการให้ลิขสิทธิ์ “ค่ายกันตนา” นำการ์ตูนซีรีส์มาออกอากาศทางทีวี และให้ลิขสิทธิ์การ์ตูนไลน์ทำตลาดในไทยด้วย

การเลือกจับมือกับค่าย “ค่ายกันตนา” นั้น การเป็นหนึ่งธุรกิจบันเทิงรายใหญ่ของไทยที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจทีวีมานาน กันตนายังเป็นออฟฟิเชียล แอคเคานต์รายแรกๆ ของไลน์มาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และกันตนาเองยังได้นำคาแร็กเตอร์การ์ตูน “เอคโค่ จิ๋วก้องโลก” ทำสติกเกอร์ออกขาย และให้โหลดฟรีในไลน์ เป็นรายแรกๆ ของเมืองไทย

การคว้าลิขสิทธิ์การ์ตูนซีรีส์ “ไลน์ทาวน์” มาออนแอร์ทางช่อง จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 รองจากญี่ปุ่น จึงเป็นการต่อยอดความร่วมมือที่จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร กันตนา กรุ๊ป บอกว่า มีการเจรจากับผู้บริหารไลน์มาต่อเนื่อง เพราะมองว่า โมเดลการทำธุรกิจของไลน์มีความน่าสนใจหลายด้าน

ผมเป็นคนแรกๆ ที่ใช้ไลน์ พอเล่นแล้วผมรู้สึกเลยว่าน่าสนใจ เพราะคนไทยสื่อกับภาพได้เร็วกว่า แทนที่จะต้องมานั่งเขียนความรู้สึก ก็ส่งภาพไปเลย มันมีอิมแพค ให้คนไปติดต่อเลย ตั้งแต่ไลน์ยังไม่ดัง ทางไลน์บอกมาช่วยโปรโมตให้เขาจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร กันตนา กรุ๊ป บอกถึงที่มากับการร่วมมือกับไลน์ ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จนต่อยอดมาเป็นลิขสิทธิ์การ์ตูนในวันนี้

การ์ตูนซีรีส์ของไลน์ที่กันตนาคว้าลิขสิทธิ์ได้มา จะมีความยาว 30 นาที มี 20 ตอน เริ่มออนแอร์ 29 สิงหาคม จาฤกคาดหมายไว้ว่า การ์ตูนเรื่องนี้ จะทำรายได้จากค่าโฆษณาเฉลี่ยนาทีละ 1 แสนกว่าบาท จากจำนวน 20 ตอน คาดว่าจะมีรายได้ 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ กันตนายังได้ลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนของไลน์ ประกอบไปด้วย “การ์ตูนหัวปิงปอง Moon, กระต่าย Cony, หมี Brown, หนุ่ม James และ Sally ด้วยการนำคาแร็กเตอร์การ์ตูนเหล่านี้ ไปให้องค์กรธุรกิจที่สนใจ ทำโปรโมชั่นกับตัวสินค้าในไทย

ในธุรกิจนี้ กันตนาจะร่วมมือกับบริษัท พีพี ดับบลิว มีบริษัทแม่ในฮ่องกง และมีสาขาในไทย ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการขายลิขสิทธิ์ไลน์เซ่นการ์ตูน เวลานี้ก็ได้ลิขสิทธิ์การ์ตูนโดราเอมอนในไทย มาช่วยในเรื่องการทำธุรกิจ ก่อนหน้านี้เคยร่วมมือกับกันตนานำคาแร็กเตอร์การ์ตูนก้านกล้วยไปทำขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัททำโปรโมชั่นมาแล้ว

ชาญวิทย์ วิทยสัมฤทธิ์ ยกตัวอย่าง ธุรกิจค้าปลีก อย่าง ร้านสะดวกซื้อ สามารถซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนไลน์ไปทำเป็นของพรีเมียม เช่น แก้วน้ำ ขวดน้ำ โต๊ะ ไว้ให้ลูกค้าสะสมแสตมป์แล้วมาแลก เพื่อกระตุ้นยอดขาย, ธุรกิจเครื่องดื่ม ซื้อลิขสิทธิ์ทำลวดลายบนผลิตภัณฑ์ หรือกลุ่มบัตรเครดิต สามารถซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นลายบนบัตรเครดิต แม้แต่ค่ายรถยนต์ก็ซื้อไปทำรุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่น หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เอาไปทำลายบนบัตรเติมเงิน

ขึ้นอยู่กับว่าเราจะครีเอทีฟนำไปใช้กับสิ่งของเหล่านี้ได้ยังไง เวลานี้เจรจาอยู่ 6 - 7 ธุรกิจ ที่เขาสนใจจะซื้อลิขสิทธิ์ไปใช้ทำโปรโมชั่น ผมว่าจะคล้ายกับกรณีของ Angry Bird ที่มีคนเอาคาแร็กเตอร์ไปต่อยอด ทำลวดลายบนสินค้า บัตรเครดิต น้ำดื่ม

ในมุมของกันตนาแล้ว การร่วมมือกับไลน์ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ที่แตกต่างจากยุค “อนาล็อก” เพราะในโลกธุรกิจดิจิตอล หนึ่งบวกหนึ่งไม่ใช่สอง แต่จะเพิ่มสามหรือสี่ ขึ้นอยู่กับการ “ครีเอต” และ “ต่อยอด” ธุรกิจได้อย่างไร

จาฤก ยกตัวอย่าง การสร้างรูปแบบการขายแบบใหม่ ในลักษณะของ “แพ็กเกจ” ลูกค้าที่ซื้อลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์ไปทำโปรโมชั่น จะเลือกลงโฆษณาในช่วงการ์ตูนไลน์ทาวน์ เพื่อโปรโมตโปรโมชั่นให้กับคนดูที่ชื่นชอบไลน์ และกันตนา “ออฟฟิเชียล แอคเคานต์” ไลน์ ไว้คอยโปรโมตให้อีกทาง ที่เป็นการ “ซินเนอยี” ระหว่างสื่อในมือ

ส่วน ไลน์ เอง การร่วมมือกับกัตนาในครั้งนี้ จะทำให้ “ไลน์” เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น ตั้งแต่ตื่นนอนมาแชตไลน์ ไปทำงานส่งสติกเกอร์ พอกลับบ้านมาเจอการ์ตูน LINE TOWN เข้าร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เจอโปรโมชั่นไลน์ จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าเกี่ยวกับไลน์ และยอดผู้ใช้ไลน์

นี่คือ Power of LINE ในความหมายของชาญวิทย์ และของกันตนา เพราะอีกไม่นาน “ก้านกล้วย” คาแร็กเตอร์การ์ตูนของกันตนา จ่อคิวสติกเกอร์ลายต่อไปที่จะขายบนสติกเกอร์ช็อปของไลน์

Did You Know
ลิขสิทธิ์ทำคาแร็กเตอร์โปรโมชั่น เป็นของบริษัท Shogakukan-Shue isha Productions ส่วนในเอเชีย ให้ลิขสิทธิ์กับบริษัท Animation International หรือ AI ส่วน PPW จะได้สิทธิ์ทำคาแร็กเตอร์โปรโมชั่นของไลน์ในไทย ส่วนการผลิตสินค้า หรือเมอร์ชานไดซ์ เช่น ตุ๊กตาไลน์ ยังเป็นสิทธิ์ของ AI

 

 

Positioning Magazine