ตำนานดาราสองแผ่นดิน โยะชิโกะ ยะมะงุชิ (Yoshiko Yamaguchi) หรือ หลี่เซียงหลาน (Li Xianglan) สิ้นลมในวัย 94 ปี

นักร้อง/นักแสดงระดับตำนานที่โด่งดังทั้งในญี่ปุ่นและจีน "โยะชิโกะ ยะมะงุชิ" (Yoshiko Yamaguchi / Shirley Yamaguchi / Yoshiko Ōtaka) หรือ "หลี่เซียงหลาน" (Li Xianglan) เจ้าของเพลงอมตะ "เย่ไหลเซียง" ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 94 ปี หลังใช้ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวและเรื่องราวต่างๆ มามากมาย
       
       โดยข่าวระบุว่า โยะชิโกะ ยะมะงุชิ ที่ตอนนี้ใช้ชื่อว่า โยะชิโกะ โอตะกะ ตามนามสกุลของสามีได้เสียชีวิตลงแล้ว จากอาการหัวใจวายที่บ้านของเธอในโตเกียวเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ซึ่งครอบครัวของเธอได้ประกาศข่าวที่สร้างความเสียใจให้กับทั้งชาวจีน และญี่ปุ่นมากมายว่า "ในระยะหลังท่านแทบจะอาศัยอยู่แต่ที่บ้านเพราะอายุมากแล้ว แต่ก็ใช้ชีวิตอย่างปกติธรรมดาทั่วไป โดยท่านมักจะใช้เวลาชมแผ่นดีวีดีทั้งภาพยนตร์ และสารคดี โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือสหรัฐอเมริกา"
       
       โยะชิโกะ ยะมะงุชิ เป็นชาวญี่ปุ่นที่ลืมตาดูโลกขึ้นมาในแมนจูเรีย ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลก หลังพ่อที่เป็นวิศวกรบริษัทรถไฟของเธอตัดสินใจมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ และอาศัยเรียนภาษาจีนจากพ่อ ระหว่างที่ท่านสอนภาษาให้กับเหล่าพนักงานการรถไฟที่เป็นชาวญี่ปุ่น
       
       ในวัยเด็ก ยะมะงุชิ เคยมีปัญหาสุขภาพจากอาการป่วยเป็นวัณโรค แพทย์จึงแนะนำให้เธอเรียนร้องเพลงเพื่อเป็นการออกกำลังระบบหายใจไปในตัว ซึ่งพ่อของ ยะมะงุชิ เชื่อว่าลูกสาวน่าจะหัดร้องเพลงแนวดั้งเดิมของญี่ปุ่นก่อน แต่เธอกลับสนใจเพลงของตะวันตกมากกว่า และตัดสินใจสมัครเข้าเรียนการร้องเพลงโอเปราจาก มาดาม โพเดรซอฟ นักร้องชาวอิตาเลียน ภรรยาของขุนนางชาวรัสเซียคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองจีน และนี่เองได้กลายเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้ ยะมะงุชิ โด่งดังขึ้นมาในเวลาต่อมา
      
       "หลี่เซียงหลาน" นักแสดงขวัญใจชาวจีน ...    
       
       ยะมะงุชิ เริ่มต้นมีชื่อเสียงหลังได้แสดงภาพยนตร์จีนเรื่อง Honeymoon Express ของ Manchuria Film Productions ในปี 1938 ในขณะที่เธออายุได้ 18 ปีภายใต้ชื่อภาษาจีนว่า "หลี่เซียงหลาน" ซึ่งชาวจีนต่างไม่มีใครทราบเลยว่าอันที่จริงแล้วนักแสดงสาวคนนี้เป็นชาวญี่ปุ่น นอกจากนั้นผลงานเพลงของเธอยังได้รับความนิยมไปทั่ว โดยเฉพาะเพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ซึ่ง ยะมะงุชิ เป็นผู้แสดงนำ
       
       โดยเธอยังมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเชิงโฆษนาชวนเชื่อ และเชิดชูประเทศญี่ปุ่นอยู่หลายเรื่อง ซึ่ง ยะมะงุชิ ยอมรับว่าเธอเสียใจมากที่ต้องเคยมีส่วนร่วมในผลงานประเภทนี้
       
       กระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ยะมะงุชิ ได้ถูกรัฐบาลจีนในขณะนั้นควบคุมตัวในข้อหากบฏ และสมคบกับญี่ปุ่นทรยศต่อชาติจีน มีการเรียกตัวทีมงานภาพยนตร์ที่เคยทำงานกับเธอ ไปสอบสวนมากมาย แต่สุดท้ายเธอก็ได้เพื่อนชาวรัสเซียช่วยยืนยันสถานะภาพการเป็นคนญี่ปุ่นให้จน ยะมะงุชิ รอดพ้นจากโทษประหารไปได้อย่างหวุดหวิด เพราะหลักฐานต่างๆ ได้ชี้ว่าเธอไม่ใช่คนจีนอย่างที่ทุกคนทราบ จึงไม่มีความผิดฐานกบฏแต่อย่างใด
       
       อย่างไรก็ตามผลงานฮิตรวมถึงเพลง "เย่ไหลเซียง" และ "ซูโจวเย่ฉวี่" ของเธอต้องกลายเป็นเพลงต้องห้ามสำหรับชาวจีนอยู่หลายปี

       กลับมาเป็น "โยะชิโกะ ยะมะงุชิ" ...
       
       หลังอพยพออกจากจีนในปี 1946 ยะมะงุชิ จึงเริ่มทำงานวงการบันเทิงที่ประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ โยะชิโกะ ยะมะงุชิ อันเป็นชื่อจริงของเธอ และยังได้รับงานแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่างๆ มากมายรวมถึง Scandal ของ อาคิระ คุโรซาวะ ด้วย
       
       นอกจากงานที่ประเทศจีน และญี่ป่นแล้ว ยะมะงุชิ ยังมีผลงานภาพนตร์ที่ฮ่องกง และเคยไปรับงานทั้งในภาพยนตร์ และละครเวทีของฮอลลีวูดด้วย รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง A House of Bamboo (1955) ของผู้กำกับดัง แซมมวล ฟุลเลอร์ ซึ่งเธอใช้ชื่อในการแสดงว่า เชอร์ลีย์ ยะมะงุชิ
       
       โดย ยะมะงุชิ เคยเข้าพิธีวิวาห์กับช่างแกะสลักชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น อิซะมุ โนะงุจิ ในปี 1951 แต่สุดท้ายชีวิตคู่ครั้งนี้กลับยืนยาวได้เพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น ก่อนที่เธอแต่งงานกับนักการทูตชาวญี่ป่นที่ชื่อว่า ฮิโระชิ โอตะกะ ในปี 1958 และถอนตัวจากวงการบันเทิงตั้งแต่ตอนนั้น โดยสามีของเธอเสียชีวิตไปในปี 2001
       
       บทบาททางการเมือง ...
       
       ในปี 1969 โยะชิโกะ ยะมะงุชิ (ซึ่งเปลี่ยนไปใช้นามสกุล โอตะกะ ของสามีแล้ว) ได้กลับมาสู่โลกแห่งแสงสีอีกครั้ง ด้วยการรับงานเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศในช่วงบ่าย ที่มีเนื้อหารายงานเกี่ยวกับความเป็นไปในช่วงท้ายของสงครามเวียดนาม และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งการทำรายการทีวีนี่เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองของเธอ
       
       ต่อมาในระหว่างปี 1974 ถึง 1992 ยะมะงุชิ ได้มีบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกของวุฒิสภา แห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งมีแนวคิดไปในทางอนุรักษ์นิยม ได้ครองอำนาจปกครองประเทศญี่ปุ่นอย่างยาวนาน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ยะมะงุชิ ได้มีส่วนช่วยเหลือในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีน รวมถึงญี่ปุ่นและหลายๆ ประเทศในเอเชียด้วย
       
       เธอยังเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอันอ่อนไหวต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์อันอื้อฉาวที่ผู้หญิงในหลายๆ ประเทศได้ถูกบีบบังคับให้เป็น "นางบำเรอ" ของทหารในกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ภาพของประเทศญี่ปุ่นในสายตาของหลายชาติย่ำแย่มาตลอด
       
       ตราบาปในจิตใจ ...
       
       ในหนังสืออัตชีวประวัติที่ตีพิมพ์ในปี 1987 ยะมะงุชิ กล่าวว่าเธอเคยมีโอกาสหยิบภาพยนตร์ China Nights หนังเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่นผลงานของผู้กำกับ โอซามุ ฟุชิมิสึ ที่เธอเคยร่วมแสดงเอาไว้กลับมาดูอีกครั้ง แต่หนังกลับทำให้เธอรู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง
       
       China Nights เล่าเรื่องของเด็กหญิงกำพร้าที่ได้รับการอุปการะจากเจ้าหน้าที่ประจำเรือเดินสมุทรชาวญี่ปุ่นผู้จิตใจดี ซึ่งในเรื่อง ยะมะงุชิ จะต้องรับบทเป็นหญิงสาวที่เกลียดชังชาวญี่ปุ่นอย่างรุนแรง แต่สุดท้ายกลับไปตกหลุมรักชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง และมีฉากที่สร้างเสียงวิจารณ์ในวงกว้าง เมื่อตัวละครของเธอถูกชายชาวญี่ปุ่นตบหน้า แต่แทนที่จะโกรธเธอกลับรู้สึกซาบซึ้งใจ ซึ่งชาวจีนมองว่าเป็นเนื้อหาที่ชี้ว่าชาวจีนมีฐานะด้อยกว่าญี่ปุ่น
       
       ซึ่งในภายหลัง ยะมะงุชิ ยอมรับว่าเธอรู้สึกผิดมาก และยังเอ่ยปากขอโทษชาวจีน ที่เธอได้มีส่วนร่วมกับหนังซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องนั้น … “ตอนนั้นฉันเริ่มรู้สึกเกลียดชังชาวญี่ปุ่นค่ะ ฉันคิดอยู่ในใจว่าช่างเป็นคนที่น่ารังเกียจ โดยเฉพาะการโอ้อวดว่าตนเองเหนือกว่าใคร และมีอคติกับชาวเอเชียอื่นๆยะมะงุชิ ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อปี 2003
       
       "ทำไมฉันถึงต้องไปปรากฏตัวในหนังเรื่องนั้นในฐานะนักแสดงชาวจีนที่ชื่อว่า "หลี่เซียงหลาน" ด้วย" โดย ยะมะงุชิ มองว่าเป็นเพราะความเด็ก และอ่อนด้อยประสบการณ์เธอจึงตัดสินใจรับงานแสดงหนังเรื่องนี้ไป จนกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอเสียใจ และนอนไม่หลับอยู่หลายเดือน แม้ในสายตาชาวญี่ปุ่นและจีนบางส่วนจะเชื่อว่า China Nights ไม่ได้มีเนื้อหาที่เชิดชูญี่ปุ่นอย่างสุดโต่งเช่นนั้นก็ตาม

 

 

Manager Online