มิวสิคฯ ปลุกใจเสือป่าแดนโสม : ความบันเทิงหรือบ่อเกิดอาชญากรรม?
"มิวสิควิดีโอปลุกใจเสือป่า" กำลังเป็นปัญหาที่แม้แต่ผู้ใหญ่ในเกาหลียังวิตกกังวล ว่ามันกำลังมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นชาวกิมจิสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าไม่มีการระวังป้องกันที่ดีกว่านี้ นักวิชาการเกาหลีได้แสดงความเห็นว่า ท้ายที่สุดมันอาจกลายปัญหาที่ใหญ่โตเกินแก้ไข
ปัญหามิวสิควิดีโอที่มีเนื้อหาและภาพอันล่อแหลมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกาหลี โดยเฉพาะในกรณีของงานมิวสิควิดีโอบางตัว ที่ความล่อแหลมเกินเลย ไปถึงขั้นที่ถูกเรียกว่าถึงระดับ 'ปลุกใจเสือป่า'
วิธีการตอบโต้ของภาครัฐเกาหลีใต้ต่องานประเภทนี้ก็คือการแบน หรือกำหนดอายุผู้ชม อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าวิธีดังกล่าวจะไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมีช่องทางที่เด็กวัยรุ่นสามารถหางานประเภทนี้มาดูได้จากหลายช่องทาง
ที่สำคัญ แม้จะถูกตีตราว่าเป็นสื่อสำหรับผู้ใหญ่ แต่ความจริงแล้ว งานเหล่านี้เป็นสินค้าที่ทางต้นสังกัดวางกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มวัยรุ่นเป็นอันดับแรก
จากการทำแบบสำรวจจาก 86 โรงเรียนมัธยมปลาย และ 65 โรงเรียนมัธยมต้นเขต โนเรียงจิน (Noryangjin) และเมียงดง (Mia-dong) ในกรุงโซล โดยหนังสือพิมพ์โชซัน อิลโบ ผู้ทำการสำรวจพวกว่า เด็กส่วนใหญ่จำนวนถึง 2 ใน 3 เคยดูมิวสิคเพลง Abracadabra ของ Brown Eye Girl ขณะที่เด็กอีกจำนวนมาก เคยดูมิวสิควิดีโอที่มีความหวือหวาอย่าง No Love No More ของ ปาร์คจินยอง (Park Jin Young) และ Touch Me ของ ไอวี่ (Ivy)
ในแบบสอบถามดังกล่าว เมื่อถูกถามว่าพวกเขาดูงานประเภทนี้จากทางไหนมากที่สุด 72 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าทางอินเตอร์เน็ต, 18 เปอร์เซ็นต์ดูทางเครื่อง PMP หรือ เครื่องเล่น MP4 ขณะที่ 10 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ทำแบบสำรวจได้ชี้ให้เห็นว่า เด็กวัยรุ่นมีสื่อมากมายในการเสพงานประเภทนี้ โดยผู้ใหญ่หรือการจัดเรตติ้งไม่สามารถเอื้อมมือมาถึงได้
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดนตรีชี้ว่า ต้นทุนของมิวสิควิดีโอเพลงเกาหลีตอนนี้ถูกลงมาก มีมูลค่าอยู่เพียง 10 - 20 ล้านวอน ต่อหนึ่งเพลง ขณะที่ 7 - 8 ปีก่อน มิวสิควิดีโอที่ใช้ต้นสูงระดับพันล้านวอนเป็นเรื่องธรรมดาในวงการเพลง
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ต ที่ผู้ผลิตเห็นว่าเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ง่าย สุดท้ายแล้วไม่จำเป็นต้องอาศัยงานที่มีคุณภาพงานสร้างที่ใหญ่โตอะไร เพราะสุดท้ายแค่งานปลุกใจเสือป่าหรือแนวเซ็กซี่ที่ใช้ทุนสร้างเพียงเล็กน้อย ก็สามารถดึงดูดเหล่าผู้ชมได้จำนวนมาก
ด้านผู้กำกับมิวสิควิดีโอชื่อดัง ซอฮยุนซอง (Seo Hyun-seung) แสดงความเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแนวทางการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่อาศัยเสน่ห์ทางเพศมากขึ้นว่า "เหตุผลที่การผลิตมิวสิควิดีโอสำหรับศิลปินหญิงส่วนใหญ่ ต้องเน้นไปที่ความวาบหวามเพราะงานของพวกเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของดนตรีนัก ท้ายที่สุดต้นสังกัดได้ค้นพบว่าแฟนๆ ดูจะพอใจกับงานด้านภาพที่หวือหวามากกว่าสนใจไปที่เพลง"
หลายฝ่ายต่างแสดงความกังวลว่ามิวสิควิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศพวกนี้จะเป็นอันตรายต่อเด็กวัยรุ่น โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ยนเซ ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ได้ให้ข้อมูลว่า จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนวัยรุ่น 155 คน ที่เคยโดนข้อหาทางเพศ อ้างว่าเป็นการกระทำที่ได้รับอิทธิพลจากการรับสื่อ
และมีจำนวนถึง 40% ที่อ้างว่าตัวเองถูกกระตุ้นจากสื่อทางอินเตอร์เน็ต-ทีวี ขณะที่อีก 23 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่าการก่ออาชญากรรมของตัวเองมีสาเหตุสำคัญมาจากการดูคลิป และถูกกระตุ้นจากการแช็ทออนไลน์
ซีจองซุน (Ji Jung-soon) ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อของศูนย์เยาชนแห่งหนึ่ง แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า "มิวสิควิดีโอที่เน้นเนื้อหาเรื่องเพศเริ่มเกินเลยขอบเขตที่ยอมรับได้ และกลายเป็นปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเหล่าวัยรุ่นถูกกระตุ้นอย่างหนัก ด้วยการดูมิวสิควีดีโอพวกนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ วัน ขณะที่ผู้ใหญ่ดูเหมือนจะไม่ได้ใส่ใจ และไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่จะต้องมาจัดการแก้ไขอะไร"
ซีจองซุน กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ในขณะนี้ที่วัยรุ่นเริ่มให้ความสนใจในวงการบันเทิงร่วมสมัยเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีงานลักษณะดังกล่าวหลั่งไหลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย งานที่จู่โจมเหล่าแฟนๆ วัยกระเตาะด้วยเนื้อหาอันปลุกเร้าทางเพศ อาจจะก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่อาชญากรรมทางเพศได้ในที่สุด
Chosun Ilbo / Manager Online