จาก "โชโจไต" (Shojo Tai) ถึง "เบอร์รี่ซ์ โคโบะ" (Berryz Kobo) มาตรฐาน & ความประทับใจที่ไม่เปลี่ยนแปลง

มีความเชื่อมากมายที่กำลังจะกลายเป็นสิ่งฝังหัวเด็กรุ่นใหม่ที่หันมาฟังเพลงในยุคที่ไร้ Gatekeeper ในการคัดกรองสื่อดนตรี จนปล่อยให้หน้าที่ดังกล่าว ตกอยู่ในมือของเหล่าพีอาร์ของค่ายเพลงและสื่อหลักกระแสลวงทั้งหลาย ในการบ่มเพาะความฉาบฉวยจนกลาดเกลื่อนไปทั่งวงการเพลงบ้านเราทุกวันนี้

และก่อนที่ความเชื่อที่ว่าวงบอยแบนด์เกิร์ลแก๊ง "ไม่สามารถร้องสดและเต้นไปพร้อมๆ กันได้" จะกลายเป็นข้อเท็จจริงของวงการดนตรีไปเสียก่อน การมาถึงของ 7 สาวน้อยแห่งวง Berryz Koubou ได้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งยืนยันที่ว่า "ร้องเท่ๆ เต้นเทพๆ" นั้นเป็นอย่างไร

ความนิยมในเกิร์ลแก๊งจากญี่ปุ่นในหมู่แฟนเพลงชาวไทยถือว่ามีมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ ที่เกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีเกิร์ลแก๊งจากแดนปลาดิบเพียงแค่ 3 รายเท่านั้นที่มาเปิดการแสดงในบ้านเรา เริ่มตั้งแต่การมาเปิดการแสดง 2 ปีติดของต้นตำนานวงสาวสามสาวอย่าง Shojo Tai เมื่อปีคศ. 1986 และ 1987 ที่ยังคงได้รับการกล่าวขานจนถึงวันนี้ ก่อนจะทิ้งห่างไปเป็นเวลากว่าทศวรรษในตอนที่ Morning Musume มาเปิดการแสดงร่วมกับศิลปินไทยเมื่อปีค.ศ. 2000

และเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ครบรอบ 10 ปีที่เกิร์ลแก๊งรุ่นพี่จากค่ายเฮลโล โปรเจคท์มาเปิดการแสดงที่เมืองไทย และหลังจากที่ทาง Mainichi Academy Group ประสบความสำเร็จในการดึงศิลปินของค่ายเฮลโล โปรเจคท์มาได้ 2 รายติดต่อกันทั้ง นัตสึมิ อาเบะ (Natsumi Abe) และ มิกิ ฟูจิโมโตะ (Miki Fujimoto) ก็ถึงตาของเกิร์ลแก๊งสุดแรงแห่งยุคอย่าง Berryz Koubou มาระเบิดความมันกับแฟนเพลงที่รอคอยการมาถึงของพวกเธอกันอย่างยาวนานเป็นครั้งแรกที่สนามอินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก

แม้อายุของสมาชิกในวงจะอยู่ที่ 15-18 ปี แต่เรื่องความเก๋าเกมส์ในการแสดงคอนเสิร์ตถือว่าหายห่วงสำหรับพวกเธอที่ตั้งวงกันมาแล้วกว่า 6 ปี และที่ต่างจากวงรุ่นพี่อย่าง Morning Musume ที่มีการสลับเปลี่ยนหมุนเวียนสมาชิกภายในวงกันอยู่เสมอ สมาชิกทั้ง 7 ของ Berryz Koubou ต่างรวมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ต้น ความผูกพันภายในวงและที่แฟนเพลงมีต่อสมาชิกจึงมีความต่อเนื่องอย่างสูง ซึ่งทั้งหมดได้แสดงออกมาในการแสดงตลอด 2 ชั่วโมงอย่างชัดเจน


Berryz Koubou pv Munasawagi Scarlet 5 en 1

กับการมาเยือนเมืองไทยครั้งแรก เซ็ตลิสต์ที่ทั้ง 7 สาวนำมาโชว์ให้แฟนเพลงถือว่าครอบคลุมใช้ได้ ทั้งเพลงใหม่ๆ อย่าง Dakishimete Dakishimete, Ryusei Boy และ Otakebi Boy Wao! ที่เป็นซิงเกิ้ลต้อนรับอัลบั้มใหม่ชุดที่ 6 ที่ออกจำหน่ายในญี่ปุ่นวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา หรือเพลงที่คุ้นเคยสำหรับแฟนๆ อย่าง Jiriri Kiteru ที่นำธีมของ Revolutionary Etude ของโชแปง มาเพิ่มสีสันให้กับเพลง, Munasawagi Scarlet ที่แดนซ์กระจายทั้งคนเล่นและคนดู รวมทั้งเพลงที่ดังยุคแรกๆ ทั้ง Nanch Koi wo Yatteru You Know? และ 21-Ji made no Cinderella ก็นำมาเล่นให้แฟนๆ หายคิดถึงกัน

ระหว่างคอนเสิร์ตมีการออกมาปล่อยมุกในช่วง MC ของสมาชิกในวงกันด้วย ถึงแม้จะคุยกันคนละภาษา(มีล่ามช่วยแปล) แต่ก็สื่อสารกันได้ด้วยความน่ารักของพวกเธอเองเป็นหลัก ตั้งแต่มุกง่ายๆ อย่างการหัดพูดภาษาไทย จนถึงมุกญี่ปุ่นจ๋าที่แฟนหลายคนอาจจะยังไม่เก็ตจนถึงวันนี้ แต่ที่ฮาและน่ารักที่สุดคงเป็นมุกแข่งกันสวยของสาวหน้าเด็กที่สุดในวงอย่าง โมโมโกะ (Momoko) และน้องนุชสุดท้องอย่าง ริซาโกะ (Risako) ที่ได้ใจคนดูไปพอๆ กัน (ถ้าเป็นซัก 3-4 ปีก่อนริซาโกะคงมีแต้มต่อมากกว่าตอนนี้ ที่เธอดูเปลี่ยนจากคุณหนูไปเป็นคุณนาย เพราะความ "สมบูรณ์" ที่เห็นได้ชัด)

กลับมาที่คอนเสิร์ตในช่วงท้าย ทั้ง 7 สาวก็พาแฟนเพลงเต้นตามไปอย่างสะใจด้วยเพลงไม้ตาย Yuke Yuke Monkey Dance ที่มาเปิดฟลอร์กันกลางอินดอร์ ต่อด้วยการนำเพลงฮิตในยุค 70 มาทำใหม่อย่าง Dschinghis Khan ที่แฟนเพลงรุ่นใหญ่หน่อยน่าจะคุ้นหูกับเวอร์ชั่นเดิมมากกว่า กับสไตล์เพลงที่สึงกุเจ้าพ่อเฮลโล โปรเจคท์นำมาใช้เป็นกระดูกสันหลังของค่ายอยู่เนืองๆ

หลังจากรอกันพักใหญ่ก็มาถึงช่วงอังกอร์ ที่มีให้ฟังทั้งเพลงจากอัลบั้มใหม่อย่าง Seishun Bus Guide และ Rival และเพลงเด็ดที่ขาดไม่ได้อย่าง Special Generation ก่อนจะปิดท้ายคอนเสิร์ตไปอย่างประทับใจด้วยผลงานจากชุดแรก Bye Bye Mata ne

เพลงเอกของพวกเธอที่แฟนๆ ไม่ได้ฟังในวันนั้นยังมีทั้ง Today is My Birthday งานดูโอของริซาโกะและมิยาบิจากชุดแรก Sayonara Hageshiki Koi, Kokuhaku no Funsui Hiroba, Very Beauty และ Maji Natsu Sugiru ที่ซึ้งกินใจเหลือเกินถ้าเอามาเล่นเป็นเพลงปิดท้าย


[Live 2008.7.21] Yuke Yuke Monkey Dance - Berryz Kobo

จากแสดงที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วในเวลา 2 ชั่วโมง สิ่งที่สังเกตได้จากการแสดงของ Berryz Koubou คือพวกเธอใช้ความเป็นเกิร์ลแก๊งในการแสดงอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่การแบ่งกันร้องเพื่อสร้างความหลากหลายในบทเพลงเท่านั้น แต่การแบ่งหน้าที่กันร้องระหว่างที่เต้นไปด้วยยังเป็นการออมแรงกันเองภายในวง เพื่อให้สามารถร้องและเต้นไปพร้อมๆ กันโดยไม่เสียแรงมากเกินไป ซึ่งหน้าที่สำคัญอยู่ที่จินตนาการของ choreographer หรือผู้ออกแบบท่าเต้นในการสร้างสรรค์การแสดง ที่ศิลปินต้องสลับกันร้องกันเต้นออกมาอย่างกลมกลืน โดยไม่ต้องพึ่งการลิปซิงค์ ที่เป็นเหมือนการเอาเปรียบคนดูของผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นศิลปินในยุคนี้ชอบกระทำ

ที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับความสำเร็จของคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็คือผู้ที่เสมือนเป็นสมาชิกคนที่ 8 ของวง ก็คือเหล่าโอตากุไทยที่ส่งเสียงเชียร์กันตลอด 2 ชั่วโมงในคืนวันนั้น การรอคอยที่ยาวนานนอกจากจะไม่ทำให้ความกระหายแห่งการชมลดลงแล้ว มันยังเป็นแรงผลักดันที่พิสูจน์ว่าไม่มีอะไรที่โอตากุไทยทำไม่ได้ ทั้งตอนที่มิยาบิเล่นมุกมิยะบีม lightstick ก็พร้อมใจกันพรึบทั้งอินดอร์ หรือภาพที่สวยงามในตอนแฟนเพลงหน้าเวทีพร้อมใจกันโยนผ้าขึ้นไปในอากาศ จนถึงเสียงเชียร์ตามจังหวะเพลง ทั้งชื่อศิลปินและวลีต่างๆ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงไปโดยปริยาย จนแม้แต่ตัวศิลปินจะกลับหลังเวทีไปแล้ว เสียงเชียร์ก็ยังคงกึกก้องอยู่เช่นเดิม...

การเดินทางมาของ 7 สาว Berryz Koubou ครั้งนี้ไม่ใช่การเดินสายทัวร์ในแถบเอเชีย แต่เป็นการเดินทางมาเปิดคอนเสิร์ตที่เมืองไทยโดยตรง เป็นความประทับใจที่ไม่ต้องแบ่งทอนกับใคร และไม่ว่าแฟนเพลงจะต้องรอการมาเยือนของเหล่าเกิร์ลแก๊งจากแดนอาทิตย์อุทัยครั้งต่อไปอีกยาวนานแค่ไหน เชื่อว่าประสบการณ์ครั้งนี้จะอยู่ในใจของแฟนเพลงไม่ต่างจากครั้งที่ Shojo Tai และ Morning Musume เคยทิ้งรอยทรงจำเอาไว้เมื่อครั้งวันวานอย่างแน่นอน

Manager Online