"อังลี" พาหนังสายลับสุดสยิว คว้าสิงโตทองคำ 2007

นับเป็นผลงานของผู้กำกับชาวจีนเรื่องที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่มาคว้ารางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์ Venice Film Festival เมื่อ Lust, Caution หนังสายลับย้อนยุคของผู้กำกับชาวไต้หวันระดับรางวัลออสการ์อย่าง "อังลี" ที่ได้รับการโจษขานทั้งความยอดเยี่ยมในเนื้อหา พอๆ กับฉากวาบหวิวในหนัง ก็คว้าเกียรติยศบนเวทีนี้ให้กับเขาได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับเขา หลังจากเคยพาหนังรักคาวบอยเกย์ Brokeback Mountain มาคว้ารางวัลจากเวทีนี้เมื่อ 2 ปีก่อนนี้เอง

Lust, Caution ผลงานชิ้นล่าสุดของ อังลี หรือ หลี่อัน ยอดผู้กำกับชาวไต้หวัน บอกเล่าเรื่องราวในสมัยทศวรรษที่ 1940 ของเมืองเชียงไฮ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศจีนถูกกองทัพของประเทศญี่ปุ่นรุกราน เมื่อนักศึกษาชาวจีนรวมกันวางแผน ที่จะลอบสังหารเจ้าหน้าที่ชาวจีน ที่รับใช้กองทัพของญี่ปุ่น โดยการใช้เสน่ห์ของหญิงสาวเป็นเครื่องมือล่อลวง

ซึ่งในเรื่อง ฉากเลิฟซีน ระหว่าง ถังเวย นักแสดงสาวหน้าใหม่ และ ซูเปอร์สตาร์อย่าง เหลียงเฉาเหว่ย ที่รับบทเป็นตัวร้ายของเรื่องนั้น ถึงพริกถึงขิงจนทำให้ตัวหนังถูกจัดอยู่ในเรต NC-17 สำหรับการฉายในสหรัฐฯ ในปลายเดือนก.ย.นี้ ซึ่งห้ามไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าชมโดยเด็ดขาด

อังลี กล่าวในพิธีมอบรางวัลว่าการมาคว้า "สิงโตทองคำ" บนเทศกาล Venice Film Festival เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปีนั้น "เป็นเรื่องประหลาด ที่ทำให้ผมตื่นเต้น เช่นเดียวกับตัวหนังเอง" ซึ่งยอดผู้กำกับก็ได้อุทิศรางวัลนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ อิงมาร์ เบิร์กแมน ตำนานผู้กำกับชาวสวีเดนผู้ล่วงลับในวัย 89 เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา

หลังจากได้รับข่าวดีดังกล่าว บรรดาสื่อในไต้หวัน ต่างประโคมข่าวสรรเสริญอังลีกันอย่างเต็มที่ โดย United Daily News พาดหัวว่า "อังลีคว้าสิงโตทองคำมาได้อีกครั้ง" และยกเขาให้เป็น "เกียรติยศแห่งไต้หวัน" ขณะที่ China Times พาดหัวว่า "อังลีคว้าชัยชนะอันยิ่งใหญ่ให้กับไต้หวันอีกแล้ว" โดยทั้งสองสำนักพิมพ์ไม่ลืมที่จะชูประเด็นถึงการคว้าสิงโตทองคำ 2 ครั้งของอังลี และอีกครั้งของ เจี่ยจางเคอ ใน Still Life เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นชัยชนะ 3 ครั้งติดของผู้กำกับชาวจีนเข้าไปแล้ว

โดยรางวัลสำคัญอื่นๆ ในปีนี้ต่างตกเป็นของศิลปินผู้มีชื่อเสียงทั้งสิ้น ทั้งผู้กำกับใหญ่อย่าง ไบรอัน เดอร์ พัลมา ที่เนื้อหาอันชวนช็อคเกี่ยวกับการข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงวัย 14 ชาวอิรัก โดยน้ำมือของทหารอเมริกันที่เข้าไปรุกรานประเทศในช่วงปี 2006 ใน Redacted ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม หรือ สิงโตเงิน ในปีนี้ไปครอง

รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมตกเป็นของ เคท แบลนเชตต์ จากผลงานในเรื่อง I'm Not There ภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตในช่วงต่างๆ ของ บ็อบ ดีแลน ตำนานเพลงโฟร์คแห่งอเมริกัน ที่เรื่องนี้เธอต้องพลิกบทบาทมาเป็นตัว บ็อบ ดีแลน ในช่วงที่เขาเปลี่ยนแนวมาสู่ดนตรีโฟร์ค-ร็อคจนแฟนๆ เพลงต่อต้าน

รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมได้แก่ซูเปอร์สตาร์ แบรด พิตต์ ในบทคนนอกกฏหมายในตำนานจากเรื่อง The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford

รางวัลเชิดชูเกียรติในปีนี้ตกเป็นของ แบร์นาโต แบร์โตลุชชี ยอดผู้กำกับชาวอิตาลี ที่มีผลงานเยี่ยมประดับวงการมาแล้วมากมาย ทั้ง Last Tango in Paris, The Conformist และ The Last Emperor เรื่องราวของจักรพรรดิองค์สุดท้ายของประเทศจีนที่คว้ารางวัลออสการ์มาได้อย่างยิ่งใหญ่ถึง 9 ตัวจากการเข้าชิง 9 สาขาในปี 1987 รวมทั้งรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

สรุปผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 64

สิงโตทองคำ(ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม): Lust, Caution โดย อังลี
สิงโตเงิน (ผู้กำกับยอดเยี่ยม): ไบรอัน เดอร์ พัลมา จาก Redacted
SPECIAL JURY PRIZE: ทอดด์ เฮเนส จาก I'm Not There และ Abdellatif Kechiche จาก La Graine Et Le Mulet
นักแสดงชายยอดเยี่ยม: แบรด พิตต์ จาก The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford
นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม: เคท บลังเชตต์ จาก I'm Not There
MARCELLO MASTROIANNI AWARD (นักแสดงหน้าใหม่): Hafsia Herzi จาก La Graine Et Le Mulet โดย Abdellatif Kechiche
ถ่ายภาพยอดเยี่ยม: รอดริโก พริสโต จาก Lust, Caution โดย อังลี
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: พอล ลาเวอร์ตี จาก It's A Free World โดย เคน โลช
SPECIAL LION for Overall Work: Nikita MikIkov

Manager Online