เกาหลี vs ญี่ปุ่น : พลุกับตะเกียงแห่งกระแส

ขณะที่กระแสเกาหลีฟีเวอร์ในบ้านเรา กำลังอยู่ในช่วงสุกงอมไม่ต่างจากที่ไหนในเอเชีย เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น หากแต่ว่ากระแสความนิยมดารากิมจิในหมู่คนกินปลาดิบนั้น ได้ผ่านช่วงพีคมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และกลับกลายเป็นว่า กระแสนิปปอนฟีเวอร์ในหมู่ชาวเกาหลี นับวันกลับจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะที่เสียงกริ๊ดจากสาวๆ วัยกลางคนชาวญี่ปุ่นที่มีต่อซูเปอร์สตาร์แดนเกาหลีอันดับหนึ่งอย่าง แบ ยอง จุน ค่อยๆ เงียบเสียงลง แต่ทุกวันนี้ปริมาณแฟนเกาหลี ที่กลายเป็นสาวกดาราเจ-ป็อป กลับขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วันนี้ เราจะเห็นชาวเกาหลีมากมายที่นั่งดูซีรีส์จากญี่ปุ่นแบบข้ามวันข้ามคืน เช่นเดียวกับนิยายจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่ได้รับความนิยมจนทำเอานักเขียนเจ้าถิ่นในเกาหลีว่างงานกันไปตามๆ กัน

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เหล่านิตยสารภาพยนตร์ในญี่ปุ่นไม่รอช้า ในการออกมาสรรเสริญวีรกรรมของผู้คนในวงการบันเทิงเพื่อนร่วมชาติครั้งนี้ทันที ในเหตุการณ์ที่เหมือนกันการเปลี่ยนบทบาท จากผู้รับกระแสฟีเวอร์จากเกาหลีในหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นผู้กลับมาสร้างกระแสได้อีกครั้งหนึ่ง โดยกล่าวว่า "ขณะที่กระแสเกาหลีกำลังหรี่แสงลง กระแสญี่ปุ่นกำลังแวววาวขึ้นเรื่อยๆ"

นักวิจารณ์หลายคนเห็นพ้องกันว่า ขณะที่กระแสเกาหลีฟีเวอร์กำลังซาลงเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่กำลังแทรกซึมหยั่งรากลึกลงในวัฒนธรรมของเกาหลีในทุกวันนี้ ซึ่งทางหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แดนกิมจิอย่าง Chosun Ilbo ได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญ เพื่อชี้ว่าอะไรเป็นจุดแข็งอันแตกต่าง ที่ทำให้กระแสญี่ปุ่นฟีเวอร์บุกเข้ามาถึงหน้าบ้านได้อย่างน่ากลัวเช่นนี้

คุณภาพของดารา

ชาวเกาหลีเพิ่งจะเปิดรับสื่อบันเทิง ทั้งหนังและละครจากญี่ปุ่นอย่างจริงจังเมื่อเดือนม.ค.ปี 2004 ที่ผ่านมานี้เอง แต่หลังจากนั้น ภาพยนตร์ที่มีโอกาสไปฉายที่เกาหลี กลับเพิ่มจำนวนอย่างคงที่ทุกปี ปี 2007 ที่จะผ่านไปนี้ มีหนังญี่ปุ่นไปฉายที่เกาหลีถึง 81 เรื่องด้วยกัน เป็นการเติบโตอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับจำนวน 29 เรื่องในปี 2004, 34 เรื่องในปี 2005 และ 51 เรื่องในปี 2006

นักแสดงชื่อดังอย่าง ทาคูยะ คิมูระ, โจ โอดากิริ จากเรื่อง Mezon Do Himiko หรือ ซาโตชิ ซึมาบูกิ จาก Josee, The Tiger and the Fish ต่างเดินทางมาที่เกาหลี เพื่อโปรโมทผลงานของพวกเขากันแล้วทั้งสิ้น ซึ่ง "เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ที่ดาราญี่ปุ่นจะเดินสายมาที่เกาหลี แต่ตอนนี้เขาเห็นว่า เกาหลีเป็นตลาดที่ศักยภาพในการทำกำไร" แหล่งข่าววงในของบริษัทที่จัดจำหน่ายหนังญี่ปุ่นในเกาหลีกล่าว

ความต่อเนื่องเป็นจุดเด่นของกระแสปลาดิบ ที่กระแสกิมจิยังเทียบไม่ได้ ขณะที่กระแสเกาหลีประสบความสำเร็จในการตีตลาดที่ญี่ปุ่นอย่างมากในช่วงปี 2004-2006 แต่หลังจาก 2 ปีแห่งความรุ่งโรจน์ ความซบเซาก็มาเยือน ขณะที่เกาหลีผลิตซูเปอร์สตาร์ที่จับกระแสจริงๆ ได้เพียงไม่กี่คน เช่น แบ ยอง จุน หรือ ชอย จี วู กองทัพไอดอลหน้าใหม่ของญี่ปุ่น ไม่เคยต้องปล่อยให้แฟนๆ ต้องคอยกันนาน ไล่ตั้งแต่ ทาคูยะ คิมูระ ดาวค้างฟ้าของวงการที่นับวันจะโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ หรือนักแสดงอย่าง โจ โอดากิริ, ซาโตชิ ซึมาบูกิ และ ซึโยชิ คุซานากิ ต่างกลายเป็นขวัญใจของแฟนชาวเกาหลีได้ทั้งนั้น ขณะที่สาวๆ จากญี่ปุ่นทั้ง จูริ อุเอโนะ, เอริกะ ซาวาจิริ, ยู อาโออิ และ อาโออิ มิยาซากิ ต่างก็กำลังสะสมชื่อเสียงในเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อดูจากสัดส่วนของปริมาณแล้ว ขณะที่ซูเปอร์สตาร์ของเกาหลีรับเล่นหนังปีละเรื่องสองเรื่องนั้น เหล่านักแสดงของญี่ปุ่น ต่างมีผลงานกันอย่างต่อเนื่องปีละหลายๆ เรื่องด้วยกัน

ศักยภาพความคิดสร้างสรรค์

ในบรรดาหนังเกาหลีที่เข้าขั้นทำรายได้ถล่มทลายในการฉายในบ้านเกิดปีนี้ ทั้ง 200 Pounds Beauty, Highway Star, Black House, Kidnapping Granny K และ Lovers Behind ทุกเรื่องต่างมีต้นกำเนิดจากผลงานของชาวญี่ปุ่นทั้งสิ้น

2 ปีที่ผ่านมา หนังเกาหลี 21 เรื่องต่างได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานต้นฉบับของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กับจำนวนหนังที่ยืมวัตถุดิบจากเพื่อนบ้านของเกาหลี ที่เคยมีเพียงแค่ 5 เรื่องจากช่วงปี 2001-2005 จนเกือบจะเรียกได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ของญี่ปุ่น กลายเป็นกระดูกสันหลังของวงการบันเทิงเกาหลีเข้าไปทุกที

หัวใจสำคัญของกระแสเจ-ป็อปตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็คือความคิดสร้างสรรค์ ในญี่ปุ่น การ์ตูนหรือนิยายดังๆ จะถูกจับมาสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ในท้ายที่สุด เป็นการสร้างรูปแบบธุรกิจบันเทิง ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสื่อ เพื่อการเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน ขณะที่ในเกาหลี ผลงานที่ฮิตจริงๆ อย่าง Winter Love Song หรือ แด จัง กึม ไม่ได้ส่องทางไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์สื่อในรูปแบบอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จได้

ไม้ตายของวงการบันเทิงญี่ปุ่นคือ การเสริมสร้างความหลากหลายในเนื้อหาของละครและภาพยนตร์อยู่ตลอดเวลา เนื้อหาประเภท 'ซินเดอเรลลาตกยาก' ที่หมุนไปทางไหนก็เจอในเกาหลี แทบจะสูญพันธุ์ไปจากทีวีญี่ปุ่นเนิ่นนานแล้ว สิ่งที่มาแทนที่ได้แก่ความแปลกประหลาดแต่ชาญฉลาด ในการสร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่พบได้จริงในชีวิตประจำวัน ที่สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมชาวญี่ปุ่น

"ละครกับหนังของญี่ปุ่น ไม่ได้แค่ทำออกมาได้น่าดูเท่านั้น ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะเบื่อกับการดูละครญี่ปุ่น เพราะว่าพวกเขามีวิธีเล่าเรื่องที่โดดเด่น ในการนำลักษณะทั้งตลกขบขัน แต่ก็จริงจังมาใช้ได้อย่างดี ต่างกับละครเกาหลีที่ไม่ว่าจะดีจะเลวก็เหมือนๆ กันไปหมด" ยุน จิ วอน จากศูนย์วิจัย Life Soft ของบริษัท LG Electronics ออกมายอมรับ

Manager Online