คนแดนมังกรอึ้ง หลังตีตั๋วดู“กังฟู แพนด้า”

วอชิงตันโพสต์ - “กังฟู แพนด้า” (Kung Fu Panda) ภาพยนตร์แอนนิเมชั่นแอ๊คชั่นเผ่าพันธุ์จีน แต่ฮอลลิวู้ดให้กำเนิด กระทบ“ปม”ในสังคมแดนมังกรอย่างจัง จนเกิดคำถามในหมู่ผู้คนแดนมังกรว่า เหตุใดคนจีนจึงไม่ปิ๊งไอเดียสร้างหนังเรื่องนี้ก่อนคนอเมริกัน?

“กังฟู แพนด้า” ประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม จนถึงขณะนี้ กวาดเงินจากโรงภาพยนตร์ทั่วโลกไปแล้วถึง 350 ล้านดอลลาร์จากฝีมือผู้เขียนบทและผู้กำกับวงการฮอลลิวู้ด ซึ่งดำเนินเรื่อง โดยอาศัยฉากเหตุการณ์ในจีนสมัยโบราณ ชูวัฒนธรรม,เทพนิยาย และสถาปัตยกรรมของจีนให้โดดเด่น ผ่านตัวละครสำคัญคือหมีแพนด้าจอมขี้เกียจ นามว่า อาโป

อาโปช่วยพ่อขายบะหมี่ในร้าน แต่ในที่สุดก็ทำความฝันของตัวเอง ที่อยากเป็นจอมยุทธ์กังฟูได้สำเร็จ ภาพยนตร์ยังใช้นักพากษ์เป็นดาราฮอลลิวู้ดชื่อดัง อย่างแองเจลิน่า โจลี่ และ แจ็ค แบล็ค ซึ่งให้เสียงพากษ์

ขณะที่เข้าฉายในจีนก็ทำลายสถิติรายได้ที่นั่น โดยทำเงินถึง 19.29 ล้านดอลลาร์ระหว่างหนังลงโรงวันแรกเมื่อวันที่ 21มิถุนายน-6 กรกฎาคม

หลังจากได้ชม “กังฟู แพนด้า” ชาวจีนมากมายพากันให้ความเห็นต่อคำถามที่ว่า ทำไมจึงกลายเป็นฝรั่งไป ที่นำเรื่องราวเกี่ยวกับจีน มาสร้างได้อย่างบรรเจิดขนาดนี้?
การแสดงทรรศนะ ที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นว่า จีนสามารถมองสำรวจตัวเองได้อย่างที่ชาวโลกเค้ามองมาหรือไม่? และเป็นการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเหมาะเจาะกับช่วงเวลา ที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่งใกล้จะเปิดฉาก

ชาวจีนหลายคนตำหนิว่า ชาวจีนขาดจินตนาการ เพราะรัฐบาลเข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างเข้มงวด และหวาดกลัวจนเกินไปเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของประเทศที่จะปรากฏต่อสายตาชาวโลก

“ เนื้อเรื่องมันธรรมด๊า ธรรมดาสำหรับเรา มีอยู่ในเรื่องอมตะทุกเรื่อง” หวง หรุ่ยเหลียน ผู้บริหารการตลาดด้านกีฬา ซึ่งยอมเข้าแถวยาวเหยียด ซื้อตั๋ว พยายามอธิบายว่าเหตุใดผู้สร้างหนังจีน จึงไม่เห็นว่าแนวเรื่องของกังฟู แพนด้ามีความแปลกพิสดารพอจะมาทำเป็นหนังตีตลาด

แต่เธอนั้นบอกว่า ดูหนังเรื่องนี้สนุกดี

“คนจีนกำลังละทิ้งวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ที่บรรพบุรุษเรามอบให้ นี่เองคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่สนใจสิ่งที่เรามี” หวัง หัวหมินผู้จัดการด้านการเงิน วัย 26 ปี ชี้

นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า ระบบการศึกษาในจีนมุ่งเรื่องอุดมการณ์ แทนที่จะกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักคิดสร้างสรรค์ เขาบอกว่า ไม่เสียใจที่คนอเมริกันสร้างเรื่อง“กังฟู แพนด้า” เป็นคนแรก

“ ทำไมเราถึงไม่ควรยอมให้ชาวต่างชาติมาสร้างหนังทำนองนี้ล่ะ? อีกไม่ช้าไม่นาน ชาวจีนก็จะตระหนักว่าสิ่งดีที่สุด ที่เรามีในตอนนี้ คือสิ่งที่เราเคยมี”

นอกจากนั้น ผู้ชมแดนมังกรยังชมเชยฮอลลิวู้ด ที่นำองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของจีนมาใส่ในหนังได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ฉากศิลปะการต่อสู้ การบรรยายถึงความคาดหวังของครอบครัว และความเชื่อของคนโบราณเกี่ยวกับชีวิตในโลกหน้า

แม้ว่าอารมณ์ขันที่สอดแทรกในเรื่องจะเป็นอารมณ์ขันแบบคนอเมริกัน แต่บทบรรยาย ที่แปลเป็นภาษาจีนก็ทำได้อย่างถูกต้องและแหลมคม เนื่องจากผู้สร้างได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีนอย่างใกล้ชิด

ผู้ชมบางคนมองว่า ที่จีนไม่สร้างภาพยนตร์แบบเดียวกันนี้ก่อน ก็เพราะไม่มีทุนรอน (“กังฟู แพนด้า” ทุ่มทุนสร้างกว่า 130 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ผู้สร้างภาพยนตร์จีนใช้ทุนสร้างไม่ถึง 1 ล้าน 5 แสนดอลลาร์) แถมยังขาดความชำนาญด้านเทคโนโลยีแอนนิเมชั่นอีก

แม้แต่คณะที่ปรึกษาของรัฐสภาจีน ยังเปิดการอภิปรายประเด็นที่ว่า เหตุใดจีนจึงไม่เป็นคนแรก ที่สร้างหนัง ซึ่งใช้แก่นเรื่องของคนจีน และกวาดรายได้มหาศาล

“ตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นสมบัติของชาติจีน และองค์ประกอบทั้งหมดก็เป็นของจีน แต่ทำไมเราถึงไม่สร้างภาพยนตร์เช่นนี้บ้างเล่า?” อู๋ เจียงประธานบริษัทโอเปร่าปักกิ่งแห่งชาติ ตั้งกระทู้ถามในการประชุมคณะกรรมการประจำของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการเมืองในรัฐสภา โดยในตอนท้าย ยังได้ขอให้รัฐบาลผ่อนคลายการควบคุม เพื่อเปิดตลาดวัฒนธรรมของจีนให้กว้างขึ้น

“ผมอดพิศวงไม่ได้ว่า เมื่อใดจีนจึงจะสามารถผลิตภาพยนตร์ได้ถึงระดับนี้” ลู่ ชวน ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับเจ้าของรางวัล เขียนลงในบทความในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีของทางการจีน

เขามีชื่อเสียงจากผลงานภาพยนตร์เรื่อง “Mountain Patrol”ในปี 2547 ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามอนุรักษ์กวางทิเบต

ชวนเล่าว่า เขาเคยได้รับเชิญให้สร้างภาพยนตร์แอนนิเมชั่น สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ในที่สุดต้องถอนตัว เพราะรัฐบาลเข้ามาจุ้นจ้านมากเกินไป โดยเข้ามาสั่งและกำหนดทิศทางว่า ภาพยนตร์ควรออกมาในรูปไหน ทำให้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของเขากระเจิดกระเจิง

ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์อีกราย แนะในบทความในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีเช่นกันว่า จีนควรสนใจต่อจิตวิทยาของต่างประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งอุปนิสัยของชาวตะวันตกในการดูโทรทัศน์ เพื่อมีความเข้าใจดีขึ้น และเจาะตลาดหลักในตะวันตกได้

ด้านผู้ชม“กังฟู แพนด้า” ยังชี้ว่า ภาพยนตร์จีนมักมุ่งให้ความรู้ แต่ขาดรายละเอียดที่ให้ความบันเทิง นอกจากนั้น ผู้สร้างชาวจีนคงไม่กล้าสร้างบุคลิกหมีแพนด้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีน ให้เกียจคร้าน และอ้วนตุ๊ต๊ะอย่าง อาโป เป็นแน่แท้

“ถ้าคุณขอให้ชาวจีนสร้างหนังเรื่องนี้ล่ะก้อ หมีแพนด้าต้องน่ารัก แต่มีนัยที่สมบูรณ์แบบ” ซุน ลี่จวิน ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์แอนนิเมชั่นของสถาบันภาพยนตร์ปักกิ่งอธิบาย

“ลงท้าย หมีแพนด้าตัวนี้ก็จะมีความเพียบพร้อมเสียจนกระทั่งไม่มีความน่ารักอีกต่อไป”

Manager Online