เจาะใจผู้สร้างละครพันล้าน "บันทึกรักคิมชูซอน" ทำไมต้องขันที?

เริ่มฉายกันไปได้เดือนเศษๆ แล้ว สำหรับ The King and I หรือ บันทึกรักคิมชูซอน สุภาพบุรุษมหาขันที ละครประวัติศาสตร์เรื่องล่าสุดของช่อง 3 ที่ย้ำกระแสความแรงของซีรีส์ย้อนยุคของเกาหลีในขณะนี้

ซึ่งทีมงานของผู้จัดการออนไลน์ได้มีโอกาสอันดี ในการเดินทางไปถึงสถานีโทรทัศน์ SBS เพื่อเปิดใจ มร.ลีจงซู ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของผลงานละครขนาดยักษ์เรื่องยาว ที่เพิ่งจะจบที่เกาหลีเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากประสบการณ์ในวงการมากว่า 32 ปี มาดูกันว่าเขามีทัศนะอย่างไรในการนำเสนอเรื่องราวของหนุ่มที่ยอมเสียสละแม้ความเป็นชาย เพื่อหญิงสาวที่ตนรักเช่นนี้

1. ทำไมถึงเลือกขันทีมาเป็นพระเอกของเรื่อง

เราไม่ต้องการทำเนื้อหาให้ออกมาซ้ำกับละครพีเรียดหลายๆ เรื่องที่ทำออกมาก่อนหน้านี้ แต่จุดเด่นของเรื่องก็คือประเด็นเรื่อง "ความรัก" ซึ่งเป็นสิ่งสากล โดยเฉพาะความน่าสนใจ อยู่ที่เรื่องราวความรักต้องห้ามในราชวัง ระหว่างพระราชินีและขันที ซึ่งจริงๆ แล้วความรักที่ยอดเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดโดยคู่รักที่สมบูรณ์แบบเสมอไป

2. เห็นหลายๆ เรื่องก็นำเสนอเรื่องราวยุคราชวงศ์โชซอนกันมาทั้งนั้น แล้ว The King and I แตกต่างจากเรื่องก่อนๆ อย่างไร

ประวัติศาสตร์ในยุคนั้นของเกาหลี จะมีเรื่องราวที่ซับซ้อนและยาวนานมากๆ แต่แม้จะนำเสนอมาในหลายๆ แง่มุมแล้ว แต่ไม่เคยมีใครเอาเรื่องเกี่ยวกับขันทีของเกาหลีมาตีแผ่มาก่อน จากนี้ไปกระแสของโปรดิวเซอร์รุ่นใหม่ๆ เริ่มที่จะหันมาสร้างละครในยุคก่อนๆ อย่างช่วงอาณาจักรโครยอกันมากขึ้น

3. ตัวเอกของเรื่องมีความสอดคล้องตามประวัติศาสตร์จริงแค่ไหน

คิมชูซอนเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง แต่จากการค้นคว้าแล้วประวัติที่บันทึกไว้เกี่ยวกับตัวเขามีไม่มาก ทางเราจึงสร้างสรรค์เนื้อหาขึ้นมาใหม่ให้เหมาะกับการสร้าง เช่น จริงๆ แล้ว ทั้ง คิมชูซอนและราชินีไม่ได้รักกันอย่างในเรื่อง

4. ทำไมถึงเลือก โอ แมนซอก, กู เฮซุน, โก จูวอน มาเป็นดารานำ แทนที่จะเป็นนักแสดงคนอื่นที่มีชื่อเสียงมากกว่า

ทั้ง 3 มีบุคลิกที่ใกล้เคียงกับตัวละคร เป็นนักแสดงหน้าใหม่และมีฝีมือการแสดงที่ดีมาก ซึ่งเป็นแนวทางการเลือกนักแสดงของผม ถ้าผมทำเรื่องต่อไปก็จะหานักแสดงหน้าใหม่อีกเช่นเดิม

ส่วนเรื่องซูเปอร์สตาร์นั้น คงเป็นไปได้ยากที่จะร่วมงานกันในโปรเจ็คท์นี้ เพราะจะทำให้ทุนสร้างที่สูงอยู่แล้วบานปลายเกินความจำเป็น และซูเปอร์สตาร์ก็ไม่มีเวลามากพอ ที่จะมาร่วมงานกับละครเรื่องเดียว ที่ออกฉายยาวนานถึง 8 เดือน ที่ใช้เวลาถ่ายทำถึงคนละ 2-3 เดือนได้ ซึ่งทีมนักแสดงที่ผมเลือกมา สามารถทุ่มเทเวลาให้กับเราได้มากกกว่า

ทุกวันนี้มีละครเกาหลีฉายในประเทศสัปดาห์ละ 30 เรื่อง นับเฉพาะ 4 ช่องหลักๆ ดังนั้นทางผู้สร้างทุกวันนี้ ต้องการหาบุคลากรหน้าใหม่ เพื่อมาป้อนวงการให้พอกับความต้องการในอนาคต

5. ฉากไหนถ่ายทำยากที่สุด

จริงๆ แล้วยากทั้งหมด แต่ที่ยากก็คือตอนต้นเรื่อง ที่เป็นหัวใจสำคัญให้ผู้ชมได้ติดตามต่อไป และความลำบากอยู่ที่ตอนนั้นมีแต่นักแสดงเด็กๆ และอากาศตอนถ่ายทำก็ร้อนมากๆ

6. มีการหาข้อมูลมาใช้ในการสร้างมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องราวประวัติของขันทีในประเทศเกาหลี

ประวัติของคิมชูซอน มีอยู่น้อยมากๆ แต่เมื่อค้นไปเรื่อยๆ ก็พบความน่าสนใจของตัวเขา จึงตัดสินใจยกเขาขึ้นมาเป็นตัวเอกของเรื่อง ซึ่งตอนแรกก็กังวลใจเหมือนกันว่าเอาประวัติมาเล่าเพียวๆ แล้วคนจะสนใจหรือเปล่า จึงดัดแปลงเนื้อเรื่องให้มีความน่าสนมากขึ้น

7. ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ที่เกาหลีเรื่องนี้เพิ่งฉายจบไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากฉายไปเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว ทั้งหมด 63 ตอน ฉายตอนละ 80 นาทีสัปดาห์ละ 2 ตอน ใช้ทุนสร้างไปทั้งหมดกว่าพันล้านบาท แต่การที่เป็นผลงานของช่อง SBS ซึ่งเป็นสถานีของเอกชนทางรัฐ จึงไม่ได้ช่วยเหลือในด้านทุนสร้างแต่อย่างใด

สำหรับค่าโฆษณาในเกาหลีถือว่ายังขาดทุนอยู่เล็กน้อย ซึ่งตอนนี้ได้นำออกไปฉายที่ประเทศญี่ปุ่น, ไต้หวัน และประเทศไทยแล้ว ต่อไปน่าจะมีการนำไปฉายในประเทศตะวันตกด้วย ทุกวันนี้การสร้างละครทุกเรื่องต้องนึกไปถึงรายได้จากต่างประเทศด้วย

8. ที่ต้องนำละครเพื่อไปฉายยังต่างประเทศด้วย ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางในการสร้างหรือเปล่า

เมื่อก่อนละครเกาหลีจะมีแต่น้ำเน่า แต่เดี๋ยวทำอะไรต้องวางแผนทั้งหมด เมื่อก่อนถ่ายทำตอนละ 8 ล้านบาท เดี๋ยวนี้ขึ้นเป็นตอนละ 16 ล้านบาท เพราะค่าตัวดาราสูงขึ้น ค่าเหนื่อยนักเขียนกับโปรดิวเซอร์ก็สูงขึ้นเช่นกัน ทำให้เดี๋ยวนี้กำไรแค่การฉายในประเทศลดลงกว่าแต่ก่อน เพราะต้นทุนที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะค่าตัวนักแสดงทั้งหลาย ถือเป็นครึ่งหนึ่งของทุนสร้างทั้งหมดแล้ว

9. ฉากเด่นที่ผู้ชมไม่ควรพลาด

ถ้าให้ดีควรจะดูตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ถ้าให้เลือกฉากที่เป็นไฮไลท์ก็มีด้วยกัน 2 ฉาก คือต้นเรื่องตอนที่คิมชูซอนตัดสินใจยอมตัดองคชาติของตนเอง เพื่อจะได้เป็นขันที และจะได้ตามไปดูแล ยุนโซฮวา คนรักของเขาในราชวัง

อีกฉากอยู่กลางเรื่องคือตอนที่ ยุนโซฮวา ผู้ที่ต่อมาได้เป็น มเหสียุน ผู้เป็นมเหสีคนรองของพระเจ้าซองจง ถูกปลดจากตำแหน่งและต้องโทษประหารชีวิตตามพระราชเสาวนีย์ของพระพันปีอินสุ เพราะมเหสียุนถูกใส่ร้าย ว่าทรงหึงหวงในองค์พระเจ้าซองจงอย่างมาก และอิจฉาริษยาสนมคนอื่นๆ จนวันหนึ่งมเหสียุนทำอุบัติเหตุให้พระเจ้าซองจงทรงบาดเจ็บมีแผลที่ใบหน้า จึงให้รับโทษประหารชีวิต ด้วยการดื่มยาพิษจนเลือดทะลักออกมาเปื้อนเสื้อไปหมด ที่ก่อนตายได้สั่งเสียกับคิมชูซอนว่า ให้ดูแลองค์กษัตริย์อย่าได้ขาดตกบกพร่องสืบไป (เป็นฉากที่อยู่ในตอนต้นเรื่องของ แดจังกึม ด้วย)

ซึ่งการตายของมเหสียุนเป็นเรื่องที่มีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อมาองค์ชายยอนซันกุนโอรสของมเหสียุนที่ได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ ได้พบเสื้อเปื้อนเลือดของพระมารดาและรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด ก็ทรงเกิดความแค้นอย่างมาก ได้ทรงให้มีการสืบสาวหาตัวผู้ที่มีส่วนร่วมในการสังหารพระมารดามาประหารชีวิตทุกคน โดยเฉพาะพวกขุนนางทั้งหลาย รวมทั้งพระพันปีอินสุ ซึ่งเป็นพระอัยกีของพระองค์เอง แต่ต่อมาองค์ชายยอนซันกุนได้ทำเรื่องเลวร้ายมากมาย ทั้งมัวเมาในสุราและนารี ใครมาว่ากล่าวตักเตือนก็จะจับไปตัดขาแล้วควักหัวใจ จนกลายเป็นกษัตริย์ที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีด้วย

10. ขันทีในเกาหลีมีที่มาอย่างไร

ขันทีในเกาหลี แม้แต่คนเกาหลีเองก็เข้าใจผิดคิดว่าทำหน้าที่เป็นแค่คนใช้ในราชวัง จนกระทั่งได้มาดูเรื่องนี้จึงเข้าใจว่า มีการแบ่งอำนาจภายในวัง และมีอิทธิพลต่อกษัตริย์ในแต่ละยุคอย่างมาก

ขันทีจริงๆ มี 2 แบบ คือตัดแต่ปลายองคชาติและตัดแบบทั้งยวง แบบหลังจะได้รับการไว้วางใจมากกว่า ส่วนแบบแรกเคยมีปัญหามาแล้วกับกรณีที่ตอนขันทีเด็ก เพราะเมื่อโตขึ้นมาขนาดองคชาติที่เหลืออยู่มันขยายตัวขึ้น เช่นในสมัยยอนซันกุน เกิดมีสนมคนหนึ่งตั้งท้อง ทั้งๆ ที่ยอนซันกุนไม่เคยหลับนอนด้วย จึงเรียกขันทีทุกคนมาตรวจดู แล้วก็พบขันทีแบบแรก

11. แล้วตามประวัติคิมซูซอนตอนตัวเองตอนโตแล้ว เหมือนในเรื่องหรือเปล่า

ประวัติไม่ได้ระบุเอาไว้ครับว่าเขาโดนตอนเมื่อไหร่

12. คนทั่วไปรู้จักแต่ขันทีของเมืองจีน แล้วของเกาหลีมีความแตกต่างอย่างไร

ระบบขันทีเกาหลีรับมาจากจีนโดยตรง แต่หน้าที่แตกต่างกันตรงที่ขันทีจีนจะทำหน้าที่ดูแลลูกของกษัตริย์ ถ้าคนไหนได้ขึ้นครองราชย์ขันทีคนนั้นก็จะมีอำนาจมากๆ ส่วนขันทีของเกาหลีมีหน้าที่ดูแลนางสนมของกษัตริย์ ซึ่งมีอยู่ 10 กว่าคน ต่างกับกษัตริย์ของจีนที่มีสนมกว่า 3,000 คน ส่วนหน้าที่ในการดูแลรัชทายาทในเกาหลีเป็นหน้าที่ของซังกุงสูงสุด

13. ถ้าเกิดการเปลี่ยนแผ่นดิน ขันทีรุ่นเก่าจะถูกกวาดล้างด้วยหรือเปล่า

ไม่เสมอไป แต่ในต้นเรื่องนี้ที่มีการชุมนุมประท้วงของเหล่าขันที ที่เอาอวัยวะที่ถูกตอนที่ดองใส่เกลือเอาไว้มาทุบทิ้ง เนื่องจากไม่พอใจที่กษัตริย์องค์ใหม่จะออกกฏกีดกันไม่ให้ขันทีแต่งงาน

14. แล้วขันทีมีลูกมีเมียได้อย่างไร

ขันทีแต่งงานได้มีครอบครัวได้ ขันทีผู้ใหญ่มีนางสนมได้ด้วย บ้านที่มีลูกจนๆ ก็จะส่งลูกสาวมาเป็นภรรยาหรือนางสนมของขันทีรวยๆ ส่วนลูกจะรับเอาขันทีรุ่นเด็กมาเป็นลูกบุญธรรม

15. สีของเครื่องแต่งกายในเรื่องมีความหมายอย่างไร

กษัตริย์จะฉลองพระองค์สีทองและลายมังกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์เท่านั้น ส่วนทหารฝ่ายบู๊และบุ่นก็จะมีเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันไป ฝ่ายบุ๋นจะใส่หมวกทรงกลม ส่วนชั้นของขันทีจะอยู่ที่ตำแหน่งของเข็มขัด, หมวก และลายเสื้อ ไม่เกี่ยวกับสี

16. หน้าที่ของขันทีกับซังกุงสูงสุดต่างกันอย่างไร

สองฝ่ายจะแบ่งหน้าที่กันดูแลกษัตริย์ ถึงตรงนี้ต้องขอบอกว่ากษัตริย์เกาหลีมีอำนาจทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่มีความสุขในชีวิตเลยครับ ขนาดนอนกับมเหสียังต้องมีซังกุงสูงสุดมาแอบดู เพื่อสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่พระองค์ใช้แรงมากเกินไป จะเข้าไปเอามีดกรีดที่แขนจนเลือดออก เพื่อให้ความดันในร่างกายลดลง กล้ามเนื้อบริเวณอวัยวะเพศจะได้คลายตัว เพราะถ้าเสียชีวิตขณะนั้น ร่างของทั้งสองจะติดกันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าอายอย่างมาก

ซังกุงสูงสุดมีหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่เช็ดก้นกษัตริย์หลังเสร็จธุระ จนถึงหน้าที่เก็บงำความลับทุกอย่างของกษัตริย์ ถ้าความลับรั่วไหลจะถูกประหารชีวิตทันที

17. โปรดิวเซอร์ลีจงซูเคยดูละครไทยบ้างหรือเปล่า

ไม่เคยเลยครับ แต่ผมชอบ องค์บาก เพราะเป็นหนังไทยที่ดังมากของที่นี่

18. มีอะไรจะฝากถึงแฟนละครชาวไทยที่กำลังชมอยู่ในขณะนี้ไหม

ดีใจมากครับที่คนไทยให้การตอบรับอย่างดี แม้วัฒนธรรมของเราจะต่างกัน แต่เรื่องความรักเป็นเรื่องสากลของทุกชาติ แต่ความน่าสนใจของเรื่องไม่ได้อยู่แค่ความรักต้องห้ามในราชวังเท่านั้น ตัวคิมซูซอนนั้นมีความจงรักภักดีในตัวองค์กษัตริย์อย่างมาก และรู้มาว่าคนไทยก็รักในหลวงอย่างมากเช่นกัน ถือว่าละครเรื่องนี้เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของเราสองประเทศครับ

Manager Online