หนังแผ่นดินไหวฟอร์มยักษ์ "Aftershock" ปลุกกระแสจัดเรตติ้งในจีน

หนังอิงประวัติศาสตร์ว่าด้วยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอดีต "Aftershock" กลายเป็นภาพยนตร์จีนที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลไปแล้ว หลังเข้าฉายเพียงแค่สองสัปดาห์ ในเวลาเดียวกันก็มีกระแสวิจารณ์ ว่าด้วยภาพและเนื้อหาอันรุนแรงของหนัง ประเทศจีนสมควรถึงเวลาของการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ได้แล้ว

Aftershock ผลงานของผู้กำกับบล็อคบัสเตอร์อันดับหนึ่งแห่งแดนมังกร เฝิงเสี่ยวกัง กลายเป็นหนังภาษาจีนที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเข้าฉายมาได้เพียง 2 สัปดาห์

จากการเปิดเผยของ Huayi Brothers บริษัทผู้จัดจำหน่าย หนังว่าด้วยเหตุการณ์จริงของภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในถังชานเมื่อ 34 ปีก่อน ที่เต็มไปด้วยเทคนิคพิเศษ ผสมกับเนื้อหาอันน่าสะเทือนใจ สามารถกวาดรายได้ถึง 510 ล้านหยวน (ประมาณ 2,390 ล้านบาท) ในการเข้าฉายเพียงสองสัปดาห์แรก

นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่ เฝิงเสี่ยวกัง สามารถทุบสถิติหนังภาษาจีนทำเงินอันดับสูงสุดได้สำเร็จ หลังเคยพาหนังตลกโรแมนติก If You Are the One ที่มีดาราสาวชาวไต้หวัน ซูฉี นำแสดง สามารถเก็บเงินไปได้กว่า 350 ล้านหยวน (1,640 ล้านบาท) เมื่อปี 2008 สูงสุดกว่าหนังเรื่องใดๆ ในตอนนั้น ก่อนจะถูกหนังฉลอง 60 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน The Founding of a Republic ทำลายสถิติด้วยรายได้ 415 ล้านหยวน (1,940 ล้านบาท) จนกระทั่งผู้กำกับดังชาวปักกิ่งกลับมายึดครองเข็มขัดแชมป์ หนังจีนทำเงินสูงสุดกลับมาได้อีกครั้งในปีนี้ด้วย Aftershock

Aftershock เป็นหนังจีนเรื่องแรกที่เปิดฉายในโรง IMAX และโกยเงินอย่างต่อเนื่องนับแต่รอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ผ่านหลัก 100 หยวนได้ภายใน 3 วันเท่านั้น ล่าสุดผู้กำกับคนเก่งยังคาดเดาว่า หนังของเขาน่าจะทำเงินแตะระดับ 600 ล้านหยวน ในสัปดาห์ต่อไป อย่างไรก็ตาม การจะชิงตำแหน่งหนังทำเงินสูงสุดในจีนกลับมา จากหนังต่างชาติที่ชื่อว่า Avatar คงเป็นเรื่องยากสักหน่อย เพราะผลงานหนัง 3-D ของ เจมส์ แคเมรอน เรื่องนั้นกวาดเงินชาวจีนไปกว่า 1,800 ล้านหยวน (8,440 ล้านบาท) ถึงกระนั้นความสำเร็จของ Aftershock ก็ยังเป็นที่พูดถึงมากอยู่ดี

ถึง Aftershock จะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล แต่หนังก็ยังถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากชาวจีนบางส่วนว่า มีความรุนแรงเกินระดับที่เด็กๆจะรับได้ ซึ่งหนังหรือผู้กำกับไม่ได้เป็นเป้าแห่งการวิจารณ์ในครั้งนี้ หากแต่เป็นระบบตรวจพิจารณาภาพยนตร์แบบจีนๆ ที่หลายฝ่ายเห็นสมควรว่าน่าจะถูกรื้อทิ้งได้แล้ว

Aftershock ไม่เพียงสร้างความตื่นเต้น หรือเรียกน้ำตาจากผู้ชม แต่ยังมีข้อร้องเรียนว่า หนังฟอร์มยักษ์เล่าเรื่องจริงของโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 240,000 คน เมื่อปี 1976 เรื่องนี้ ยังมีความรุนแรงชนิดเกินพิกัด จนเด็กหลาย ๆ คนส่งเสียงตกใจ หรือร้องไห้ออกมาในโรงภาพยนตร์กันเลยทีเดียว

เสียงบ่นเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเว็บไซต์ และบล็อคภาษาจีนที่มีอยู่มากมาย รวมถึงการเรียกร้องไปยังผู้จัดจำหน่าย และโรงภาพยนตร์ว่าควรมีป้ายเตือนไว้ภายนอกโรงหนัง ให้ผู้ปกครองทราบว่า Aftershock เต็มไปด้วย เสียงดังโครมคราม, การกรีดร้องของผู้คน, รวมถึงภาพ ทั้งการโคลสอัพซากศพ, ภาพอันน่าสยดสยองร่างของผู้บาดเจ็บเสียชีวิต และภาพของผู้คนที่ถูกบดขยี้จากอาคารที่พังทะลาย

"มีเสียงเด็กร้องไห้สะอื้นสะอื้นเต็มโรงหนังไปหมด ลูกสาว 5 ขวบของฉันก็ร้องไห้ไปด้วย เพราะตกใจกับหลาย ๆ ตอนในหนัง" จางลี่ คุณแม่ของลูกสาววัย 5 ขวบ เขียนแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ Kaixin001.com ชุมชนออนไลน์ยอดนิยมแห่งหนึ่งของจีน

ปัจจุบันการตรวจสอบภาพยนตร์ในประเทศจีนดำเนินการโดย สำนักบริหารกิจการวิทยุ ภาพยนต์ และโทรทัศน์แห่งรัฐ (SARFT) ที่มีสิทธิในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้หนังเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้ฉายในประเทศ ซึ่งหนังที่ผ่านการตรวจสอบ ก็สามารถเปิดฉายให้บุคคลทุกเพศทุกวันสามารถเข้าชมได้ SARFT ยังดูแลไปถึงการเซนเซอร์ในแวดวงโทรทัศน์ด้วย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายคนเริ่มร้องเรียน ให้รัฐบาลริเริ่มระบบการจัดเรตติ้งอันสมัยเหมือนต่างประเทศเสียที โดยยกฮ่องกงเป็นตัวอย่าง ซึ่งที่นั่น Aftershock ถูกจัดให้อยู่ในเรต II-A หรือเทียบเท่า PG-13 ในสหรัฐอเมริกา ที่หมายความว่ามีเนื้อหาบางส่วนของหนังไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาชน หากเข้าชมต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครอง

แม้หลายฝ่ายจะเห็นว่าการจัดเรตติ้งเป็นระบบที่ดีที่สุด สำหรับการดูแลความเหมาะสมในการฉายภาพยนตร์ แต่ก็ยังมีชาวจีนอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่า ประเทศยังไม่พร้อมกับระบบแบบนี้

ปัจจุบัน SARFT จะตรวจพิจารณาภาพยนตร์โดยมองไปถึงประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความรุนแรง, เรื่องเพศ, คำพูดหยาบคาย เป็นต้น ซึ่งศาสตราจารย์เฉินซาน แห่งสถาบันภาพยนตร์ปักกิ่งมองว่า การจัดเรตติ้งในประเทศอาจต้องค่อย ๆ พัฒนาอย่างระมัดระวัง "ระบบเรตติ้งจะมีปัญหาการบังคับใช้อย่างมาก ผู้สร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์บางเจ้า อาจเอาเปรียบระบบด้วยการฉายหนังที่มีความล่อแหลมมาก ๆ โดยที่โรงไม่สามารถป้องกันให้ผู้ชม ที่มีอายุน้อยกว่าเกณฑ์เข้าไปชมได้"

เฉินซาน สรุปว่าจีนสามารถปรับใช้ระบบเรตติ้ง ผสมกับการตรวจสอบอนุญาตภาพยนตร์แบบเก่าร่วมกันได้ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในปัจจุบันว่า "เราควรให้คำแนะนำกับผู้ปกครอง ว่าหนังเรื่องใดบ้างที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสมต่อเยาชน" ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์ ยังออกความเห็นและย้ำว่า ถ้าจะมีระบบดังกล่าวในประเทศจีนจริง ก็ต้องมีการออกแบบระบบกันอย่างถี่ถ้วน โดยไม่สามารถลอกเลียนจากต่างประเทศ หรือฮ่องกงมาใช้ได้อย่างสำเร็จรูป

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ SARFT คนหนึ่ง ซึ่งออกมากล่าวในการเยือนฮ่องกงว่า หน่วยงานของรัฐบาลกำลังถกในเรื่องนี้กันอยู่ พร้อมยืนยันว่า แม้จะมีระบบเรตติ้งแล้ว หนังประเภทอีโรติกโป๊เปลือย ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาฉายอย่างถูกต้องตามกฎหมายในจีนอย่างแน่นอน

Aftershock - ( Feng Xiaogang ) (2010) Eng Subbed Trailer

Manager Online