ละคร: สิ่งที่เกาหลียังคงไล่หลังญี่ปุ่น

ทุกวันนี้กระแสดนตรี, หนัง หรือละครเกาหลีนับวันมีแต่จะแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเอเชียและโดยเฉพาะในเมืองไทยของเรา แต่กระนั้นแม้แต่คนเกาหลีเองก็ยังยอมรับว่าคุณภาพละครของพวกเขายังตามหลังละครจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นอยู่หลายช่วงตัวทีเดียว

"ข้อเปรียบเทียบระหว่างการสร้างละครของญี่ปุ่นและเกาหลี" ผลงานวิจัยของ คิมยังดุ๊ก จากการเผยแพร่ของสถาบันกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ของเกาหลี สรุปถึงปัจจัยสำคัญๆ ที่ส่งผลให้ละครที่มาจากเกาหลีใต้ยังตามไม่ทันละครจากญี่ปุ่นในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางด้านการจ่ายค่าตัวดาราเกาหลีที่มากกว่าวงการบันเทิงญี่ปุ่นให้นักแสดงของพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสัดส่วนที่ไม่สมดุลนี้ส่งผลต่อคุณภาพของงานโดยตรง เมื่อดาราเกาหลีได้ค่าจ้างเป็นเงินถึง 60% ของทุนสร้างละครทั้งเรื่อง แต่ดาราญี่ปุ่นได้ค่าแรงจากผู้จัดเพียงแค่ 20-30% ของทุนสร้างทั้งหมดเท่านั้น

"การจ่ายค่าจ้างนักแสดงเกินจริงทำให้งบละครบานปลาย ส่งผลถึงการหดหายของกำไร เกาหลีควรจะมีระบบการจ่ายค่าจ้างดาราที่เหมาะสมเสียที" ผลวิจัยกล่าว

เหตุผลที่ผู้สร้างละครญี่ปุ่นไม่ต้องหมดเงินไปกับการโก่งค่าตัวของเหล่านักแสดง เนื่องจากมีการตกลงค่าจ้างจากฐานข้อมูลที่จัดเก็บมาอย่างดี ซึ่งเรียกกันว่า "ศักยภาพในการสร้างเรตติ้ง" (potential ratings) ของดาราแต่ละคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่วัดความดังของบรรดานักแสดงจากผลงานละครของพวกเขา รวมทั้งจำนวนครั้งของการออกโทรทัศน์และตามสื่ออื่นๆ ในรอบ 3 ปีล่าสุด

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มา จะเป็นตัววัดว่าดาราแต่ละคนควรจะได้ค่าแรงอย่างเหมาะสมในละครแต่ละเรื่องเป็นเงินเท่าไหร่ ซึ่งในงานวิจัยครั้งนี้ ได้นำค่าตัวดาราญี่ปุ่นที่ได้ในแต่ละตอนจากระบบดังกล่าวมาเปิดเผยด้วย เช่น มัตสึชิมะ นานาโกะ (GTO) มีค่าตัวอยู่ที่ 4.5 ล้านเยน (1.6 ล้านบาท) จากค่า potential ratings ที่ 14.8% นาคามะ ยูกิเอะ (Gokusen) ได้ไป 3 ล้านเยน (1.07 ล้านบาท) จากค่า potential ratings ที่ 14.1% ทาคูยะ คิมูระ (Hero) ได้ไป 3.5 ล้านเยน (1.24 ล้านบาท) จากค่า potential ratings ที่ 13.1%

ตัวเลขดังกล่าวเทียบกันไม่ได้กับที่ดาราเกาหลีชื่อดังได้รับจากการเล่นแต่ละตอน เช่นขวัญใจเกาหลีตลอดกาลอย่าง แบยองจุน (Winter Love Song) นักแสดงอันดับหนึ่งของเกาหลีได้ค่าตัวไปตอนละ 250 ล้านวอน (6.5 ล้านบาท) ส่วน ซองเซิงฮอน (Autumn In My Heart) ก็ได้ไปตอนละ 70 ล้านวอน (1.8 ล้านบาท)

"เราต้องการระบบแบบเดียวกันนั้นเพื่อการจ่ายค่าจ้างดาราตามความเป็นจริง" คิมยังดุ๊ก เจ้าของงานวิจัยยืนยัน

แม้ในวงการบันเทิงเกาหลีจะมีนักแสดงอีกหลายคนทั้ง ควอนซังวู และ โกฮยอนจอง ที่รับรู้ถึงอุปสรรคดังกล่าวในการสร้างละครในเกาหลี และยินยอมที่จะลดค่าตัวของพวกเขาลงมา แต่ติดปัญหาที่เหล่าบรรดา "ขาใหญ่" ของวงการที่มาเล่นอยู่ในละครเรื่องเดียวกันนั่นเอง

นอกจากปัญหาเรื่องค่าตัวนักแสดงแล้ว อีกปัญหาที่เป็นตัวขวางความเจริญของละครเกาหลีได้แก่จำนวนตอนของละครแต่ละเรื่องที่ออกฉายในแต่ละสัปดาห์ รวมทั้งความยาวของการออกอากาศด้วย

ขณะที่ตามธรรมเนียมของละครเกาหลีจะออกอากาศสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (จันทร์และอังคาร-พุธและพฤหัสบดี และในสุดสัปดาห์) แต่ละครญี่ปุ่นจะออกฉายเพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น รวมทั้งการที่ละครเกาหลีมีความยาวต่อตอนถึง 70 นาที ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่จบในตอนที่ 46 นาทีโดยประมาณ

"ระบบการฉาย 2 วันติด อาจจะส่งผลถึงการเพิ่มเรตติ้ง แต่การที่จะสร้างผลงานให้มีคุณภาพทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน เราจำเป็นต้องสร้างละครที่ออกฉายแค่สัปดาห์ละครั้ง เราต้องลดความยาวของละครลง และมาเพิ่มเวลาในการเตรียมงานก่อนถ่ายทำแทน" คิมยังดุ๊กกล่าวในงานวิจัย

การสร้างละครญี่ปุ่นจะใช้เวลาในการเตรียมงานก่อนถ่ายทำจริง 6 เดือนถึงปี 1 ซึ่งเป็นการให้เวลากับบรรดาทีมนักแสดง, ทีมงาน และโปรดิวเซอร์ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะทุ่มเทผลงานที่ดีที่สุดลงไปในละครแต่ละเรื่อง ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมากในวงการละครของเกาหลี

"ละครเกาหลีหลายๆ เรื่องถูกสร้างออกมาอย่างเร่งรีบท่ามกลางตารางงานที่สับสน"

หลายๆ ตอนของละครจากเกาหลีถูกไฟเขียวให้ถ่ายทำเอาในนาทีสุดท้าย จนเกิดวลีที่รู้จักกันในวงการว่า "jjok-daebon" ที่กล่าวถึงสถานการณ์ที่บทละครถูกเขียนเสร็จออกมาสดร้อนๆ ก่อนที่จะถ่ายทำในแต่ละวัน ขณะที่ละครบางเรื่องได้รับอนุมัติให้ถ่ายทำตอนเพิ่ม หลังจากได้รับความนิยมระหว่างการออกอากาศอย่างมาก แต่สิ่งที่ตามมาก็คือเสียงวิจารณ์ในแง่ลบของแฟนละครเองจากเนื้อเรื่องที่ยืดเยื้อเกินไป

ในการที่จะล้างบางแนวคิดเก่าๆ ในวงการละครเกาหลี คิมเสนอว่าวงการต้องการผู้เชี่ยวชาญในการสร้างละครอย่างแท้จริง

"การมีโปรดิวเซอร์หรือผู้กำกับกองถ่ายที่ดี จะช่วยลดระยะเวลาในการเตรียมงานลง และช่วยให้คุณภาพโดยรวมของละครทั้งเรื่องเข้มแข็งขึ้น"

ในงานวิจัยยังเสนอแนะว่า เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่ละครส่งผลต่อทางสังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมโดยรวมของชาวเกาหลี มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการสร้างมันออกมาอย่างมีคุณภาพสูงสุดและรู้วิธีที่จะนำเสนอในช่วงเวลาที่มีศักยภาพที่สุด

"ตามรายงานของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจของเกาหลี ภาพรวมเศษรฐกิจของประเทศที่ได้รับจากละครเรื่อง Winter Love Song เป็นเงินมูลค่าถึง 3 ล้านล้านวอน (1.11 ล้านล้านบาท) ดังนั้นสำหรับบริษัทผลิตรายการทั้งหลาย ละครถือเป็นหนึ่งในการลงทุนที่พวกเขาสนใจมากที่สุด ในฐานะเป็นตัวสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่งดงามอีกด้วย"

Manager Online