เมื่อกลุ่มไอดอลกิมจิต้องแบ่งเงิน : วิธีใดจึงเป็นธรรม ?

สำนักข่าว KBS ได้แจกแจงถึงหลักการแบ่งเงินรายได้ ของกลุ่มเกิร์ลกรุ๊ป และบอยแบนด์ในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีอยู่ 2 รูปแบบแตกต่างกัน ระหว่างการแบ่งเงินอย่างเท่าเทียมกันสำหรับสมาชิกทุกคน และแบ่งรายได้ตามชื่อเสียงกับจำนวนงานของสมาชิกแต่ละคน เป็นสองวิธีที่มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
       
       ศิลปินวัยใสกลายเป็นดาวเด่นในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ตลอดช่วงระยะเวลา หลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนต่างสงสัยมาโดยตลอดว่า เด็กวัยรุ่นเหล่านี้ได้ค่าตอบแทนอย่างไร โดยเฉพาะสำหรับวงเกิร์ลกรุ๊ป และบอยแบนด์ ที่มีสมาชิกจำนวนมาก นอกจากนั้นแต่ละคนต่างมีชื่อเสียง และงานไม่เท่ากัน
       
       มาด้วยกัน, ดังด้วยกัน รับเงินเท่ากัน
       
       2PM และศิลปินอีกหลายกลุ่ม เลือกที่จะใช้หลักการแบ่งเงินให้กับสมาชิกแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกันทั้งราย ได้ส่วนร่วม และรายได้ส่วนตัว ต้องนำมารวมกันทั้งหมด
       
       แม้สำหรับกลุ่มศิลปินที่มีจำนวนสมาชิกตั้งแต่ 9 คนขึ้นไปการแบ่งส่วนรายได้แบบนี้อาจจะทำได้ยากขึ้นไปอีก แต่ในสายตาของเอเยนซี่หลายแห่ง ก็ยังยืนยันว่านี่คือหลักการที่จำเป็น และยุติธรรมที่สุด
       
       JYP ที่ได้รับคำยกย่องว่าให้ความยุติธรรมกับศิลปินในสังกัดมากที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นเอเยนซี่ที่ใช้ระบบ "แบ่งเท่า" เช่นเดียวกับ CUBE Entertainment โดยตัวแทนของ JYP อธิบายในเรื่องนี้ว่า
       
       "ถ้าสมาชิกแต่ละคนได้งานเดี่ยว มันก็เพราะว่าเขาโด่งดังจากการเป็นสมาชิกของวงมาก่อน เพราะฉะนั้นรายได้จากงานเดี่ยว ก็ควรจะแบ่งให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วย ในฐานะที่ช่วยสร้างชื่อเสียงมาด้วยกัน ในตอนนี้ กีควัง (Ki Kwang) จาก BEAST หรือ ฮยอนอา (HyunAh) จาก 4minute เป็นคนที่มีงานเดี่ยวมากกว่าเพื่อนๆในวง แต่รายได้ทั้งหมดก็ยังต้องนำมาแบ่งกัน"
       
       กรณีของ "นิชคุณ" (NichKhun)
       
       อย่างไรก็ตามการแบ่งส่วนรายได้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่แตกต่างกันไปตามแต่ข้อสัญญาของแต่ละกลุ่มศิลปิน โดยสำนักข่าวแห่งเกาหลีใต้ เลือกใช้หนุ่มไทย นิชคุณ หรเวชกุล แห่งบอยแบนด์ 2PM เป็นกรณีศึกษาในประเด็นนี้
       
       โดยเมื่อเร็วๆนี้ นิชคุณเพิ่งได้งานโฆษณาไอศครีมยี่ห้อหนึ่งในเกาหลีใต้ จากนั้นก็เดินทางไปถ่ายทำโฆษณาในเมืองไทย หลังจากกลับมาเกาหลีใต้เขายังไปปรากฏตัวในรายการวาไรตี้ และได้ร่วมแสดงทีวีซีรีส์เรื่องหนึ่งด้วย
       
       ซึ่งจากงานต่างๆเหล่านี้มีข้อมูลว่า นิชคุณต้องแบ่งรายได้จากโฆษณาไอศครีมให้กับเพื่อนๆสมาชิกวง 2PM ของเขาอย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่รายได้จากงานโฆษณาในเมืองไทยเป็นส่วนของนิชคุณแต่เพียงคนเดียว
       
       นอกจากนั้นค่าตัวในการปรากฏตัวในรายการวาไรตี้ต่างๆ ยังจะถูกแบ่งให้กับสมาชิกคนอื่นๆของ 2PM เช่นเดียวกัน แต่สำหรับค่าตัวจากงานแสดงจะเป็นของ นิชคุณ เพียงคนเดียว
       
       ซึ่งการแบ่งเงินรายได้ลักษณะนี้มาจากข้อสัญญาที่ระบุเอาไว้ว่ารายได้ ส่วนตัวของสมาชิก 2PM แต่ละคน ต้องถูกแบ่งให้กับสมาชิกทุกคนเท่าๆกัน แต่สำหรับนิชคุณจะมีข้อยกเว้นสำหรับงานในประเทศไทย อันเป็นบ้านเกิดของเขา ที่นักร้องหนุ่มชื่อดังสามารถรับเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเป็นงานที่มาจากชื่อเสียงความนิยมโดยส่วนตัวของเขาเอง
       
       ดังมากได้มาก ดังน้อยได้น้อย
       
       อย่างไรก็ตามยังมีเอเยนซี่บางแห่งที่ใช้ระบบอื่น รวมถึงหลักการที่ว่าใครมีชื่อเสียงและงานมากกว่า ก็สมควรจะมีรายได้มากกว่า รวมถึง SM Entertainment เอเยนซี่ยักษ์ใหญ่ ที่มีนักแสดงนักร้องในสังกัดมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ป ซึ่งแต่ละวงต่างก็มีสมาชิกบางคนมีชื่อเสียง และงานมากกว่าเพื่อน ๆ หลายเท่า
       
       ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในกรณีนี้ก็คือ ยุนอา (YoonA) และ แทยอน (Taeyeon) จาก Girls' Generation หรือ คิมฮีซอล (Kim Hee Chul) และ อีทึก (Lee Tuek) จาก Super Junior ที่มีงานส่วนตัวมากกว่าเพื่อนๆอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็นที่มาของรายได้ก้อนโตกว่าเพื่อนด้วย
       
       พนักงานในบริษัทเอเยนซี่คนหนึ่งยอมรับว่า วิธีการแบ่งรายได้แบบนี้ ทำให้สมาชิกแต่ละคนมีรายได้แตกต่างกันมาก และบางทีก็สร้างบรรยากาศแปลกๆขึ้นมาระหว่างวงได้เหมือนกัน "เพราะส่วนต่างรายได้ระหว่างสมาชิกคนที่ได้ เงินมากที่สุด กับน้อยที่สุดใน Super Junior มีช่องว่างมาก ทำให้บางทีความรู้สึกของสมาชิกแต่ละคนในการรวมกลุ่มกันก็ค่อนข้างแปลกๆอยู่เหมือนกัน"+
       
       แต่ก็เป็นเรื่องยุติธรรมเมื่อมองในมุมว่า สมาชิกคนดังกล่าวต้องทำงานมากกว่าเพื่อน ถึงจะได้รายได้มากกว่า
       
       เช่นเดียวกับในกรณีของ Pledis Entertainment ต้นสังกัดของ After School ที่มี ยูอี (UEE) และ ปาร์กกาฮี (Park Ka Hi) เป็นสมาชิกที่มีงานส่วนตัวแซงหน้าเพื่อน ๆ ในวง และ Core Contents Media ต้นสังกัดของ T-ara ที่ ฮัมอึนจอง (Eun Jung) และจียอน (Ji Yeon) เป็นดาวเด่น ก็เลือกที่จะใช้หลักการ "ตัวใครตัวมัน" เช่นเดียวกัน
       
       แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างสำหรับ Core Contents Media ที่ตัวของบริษัทจะเป็นผู้รับรายได้ในส่วนของการร่วมรายการวาไรตี้ต่างๆของนักร้องนักแสดงในสังกัดไปทั้งหมด เพราะบริษัทมองว่าการปรากฏตัวในรายการลักษณะนี้ก็ถือว่าเหล่าดารานักร้องได้ โปรโมตตัวเองไปแล้ว นอกจากนั้นเงินที่ได้รับจากรายการวาไรตี้ยังเป็นจำนวนที่น้อยมาก เหล่าเด็กในสังกัดจึงไม่ค่อยจะติดใจทวงถามอะไรกับรายได้ส่วนนี้
       
       ข้อสรุปคนวงใน "วิธีไหนก็สร้างปัญหาได้ทั้งนั้น
       
       ในตอนท้าย KBS อ้างความเห็นจาก "คนวงใน" ผู้หนึ่งว่าคงไม่สามารถตัดสินได้ว่า รูปแบบการแบ่งรายได้ระหว่างสมาชิกในกลุ่มศิลปินแบบใดจะดีกว่ากัน เพราะต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน
       
       "ไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน มันก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาจนได้ ในกรณีที่สมาชิกทุกคนต้องแบ่งรายได้เท่าๆกัน คนที่ทำงานมากที่สุดก็จะบ่นมากที่สุด ในทางตรงกันข้ามถ้าเลือกในแบบรายได้ของใครของมัน คนที่ดังน้อยที่สุด และมีรายได้น้อยที่สุด ก็จะบ่นมากที่สุด เรื่องของเรื่องก็คือวงไอดอลพวกนี้เกิดง่าย และแตกกันได้ง่ายมาก"

Manager Online